ไทยประสานความร่วมมืออินโดนีเซีย ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดของทั้งสองประเทศและในภูมิภาคอาเซียน
จากการที่สถานการณ์การผลิตและลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดยาเสพติดจากสารสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทซึ่งก็คือ ยาบ้า และ ไอซ์ เพิ่มขึ้นในทุกประเทศ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการที่ยังไม่สามารถควบคุมและปราบปรามการลักลอบค้าและลำเลียงเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดเข้าสู่แหล่งผลิต
ประเทศอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนก็ได้รับกระทบดังกล่าว ซึ่งในปีที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณผู้เสพและการจับยึดได้ไอซ์เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ยังถูกเป็นเส้นทางลำเลียงผ่านยาเสพติดต่อไปยังประเทศที่สาม โดยที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในฐานะผู้นำ (Lead Shepherd) ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด จึงได้ริเริ่มขยายความร่วมมือด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดกับประเทศอินโดนีเซีย และนำมาสู่การประชุมทวิภาคีไทย – อินโดนีเซีย ด้านการควบคุมยาเสพติด ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย
นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่าการประชุมทวิภาคีไทย – อินโดนีเซีย ด้านการควบคุมยาเสพติด ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นในวันอังคารที่ 26 – วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2562 โดยสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ โรงแรมเดอะ ริเวอร์รี บาย กะตะธานี จังหวัดเชียงราย โดยมีเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และ Police Commissioner General Heru Winarko หัวหน้าหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดอินโดนีเซีย (National Narcotics Board: BNN) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนอินโดนีเซีย
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. แห่งราชอาณาจักรไทยและคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ สาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ และการใช้ยาในทางที่ผิด (MoU) อย่างจริงจัง รวมถึงการติดตามสถานการณ์ยาเสพติดของไทยและอินโดนีเซีย การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านยาเสพติด และการหารือกันถึงแนวทางความร่วมมือและแผนงานที่จะดำเนินการร่วมกันในอนาคต ตลอดจนพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของไทยและอินโดนีเซีย
สำหรับข้อสรุปในการประชุม ทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันหลายประเด็น และได้ยืนยันความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันต่อไปในอนาคต ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การป้องกันยาเสพติด การตรวจพิสูจน์สารเสพติด การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาทางเลือก เพื่อเพิ่มศักยภาพของไทยและอินโดนีเซียในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม
การดำเนินงานในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้มีการประสานความร่วมกับทุกประเทศในการจัดการปัญหายาเสพติด และแนวทางของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรววยุติธรรม ที่เน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินการเชิงรุกเพื่อสกัดกั้นเคมีภัณฑ์/สารตั้งต้นไม่ให้เข้าไปยังแหล่งผลิต และไม่ให้ยาเสพติดจากแหล่งผลิตออกมาแพร่ะกระจายในประเทศรวมถึงการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่สาม
ธวัชชัย เฟื่องอนันต์ รายงาน