สำนักงานพัฒน์เพิ่มศักยภาพแรงงาน-สถานประกอบกิจการ เตรียมความพร้อมการแข่งขันทางธุรกิจระดับประเทศ
วันที่ 27 พ.ย.62 ที่ห้องประชุมโรงแรม แอทที บูติก หมู่ 1 ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายคมสันต์ เจริญอาจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานและสถานประกอบกิจการภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งนางสาวกอบกุล มะลิวัลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานประจวบคีรีขันธ์ จัดขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาให้แรงงาน บุคลากร สถานประกอบกิจการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติฯมีศักยภาพในการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องครบถ้วนตามพระราชบัญญัติ และเพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่สิทธิประโยชน์ต่างๆของกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด และมีผู้ใช้แรงงาน หน่วยงาน สถานประกอบกิจการต่างๆในจังหวัดเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างและบุคคลทั่วไปเพื่อตอบสนองการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กำหนดให้การประกอบอาชีพในสาขาอาชีพตำแหน่งงานหรือลักษณะงานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หรือต้องดำเนินการโดยผู้มีความรู้ความสามารถที่ได้รับการรับรองความรู้ความสามารถให้ได้รับสิทธิประโยชน์ รวมทั้งการให้เงินกู้ยืมกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เงินช่วยเหลืออุดหนุนหน่วยงานที่อยู่ในข่ายบังคับเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
ดังนั้นฝ่ายพัฒนาฝีมือแรงงานสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีสมรรถนะที่เหมาะสมสอดคล้องพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพ การสนับสนุนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อลดปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการพัฒนาฝีมือแรงงานและกิจกรรมต่างๆภายใต้พระราชบัญญัติ จึงได้จัดหลักสูตรพัฒนาศักยภาพแรงงานและสถานประกอบกิจการภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้น เพื่อให้แรงงาน บุคลากร สถานประกอบกิจการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติมีความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ การบูรณาการเครือข่าย การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ขั้นตอนที่กำหนดได้ถูกต้องครบถ้วน สามารถดำเนินงานทันต่อทิศทางการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมและการบริการที่รวดเร็ว การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การพัฒนาให้มีขีดความสามารถ และสมรรถนะตามมาตรฐานความเชี่ยวชาญ ภาวะผู้นำ และมีความชำนาญเฉพาะด้านในสาขาอาชีพ
ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ(นักข่าวบ้านนอก)จังหวัดประจวบฯ