“มนัญญา” ลั่นพร้อมเซ็นส่งออก3สารพิษทันที ภายใน3วัน ชี้เป็นเรื่องแปลก ยิ่งแบนสาร กลับมีสต๊อกสาร ล่าสุดคงเหลือเพิ่มพรวดกว่า 3.8หมื่นตัน
ระบุเป็นหน้าที่ภาระเอกชนรับผิดชอบ ส่งกลับหรือทำลาย ระบุประเทศนี้ต้องไม่มีเกษตรกรโดนจับเพราะครอบครองสาร
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.62 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในที่ประชุม รับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออก สารเคมี3ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ก่อนที่จะยกเลิกใช้3สารวันที่1ธ.ค.นี้ ว่าจนถึงขณะนี้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการหารือกับเอกชน ผู้นำเข้า ส่งออก 4สมาคม คือสมาคมธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืช สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมการค้านวตกรรมเพื่อการเกษตรไทย และวันที่22 พ.ย.จะประชุมสารวัตรเกษตรทั่วประเทศ 300กว่าคนเพื่อซักซ้อมแนวทางดูแลประชาชน และเกษตรกร ในการคืน3สารอันตราย เพื่อให้ไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้แบน3สารในวันที่1ธ.ค.62 ดังนั้นการที่มีข่าวว่าในวันที่27พ.ย.คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะประชุมอาจมีการทบทวนสารบางตัว เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ กอ.ต้องตอบคำถามให้กับประชาชนทุกข้อ ในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร จะต้องทำให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบประชาชนและเกษตรกร เนื่องจากมีโทษตามกฎหมายสูงหาก3สารมีอยู่ในครอบครองหลังวันที่1ธ.ค.
น.ส.มนัญญา กล่าวว่าในส่วนภาคเอกชน ตนยืนยันว่าหากต้องการส่งออก พร้อมเซ็นอนุมัติให้ทันทีในเวลาทำการ1-3วัน ขณะนี้มีเอกชน ยื่นขอส่งออก3สาร700กว่าตัน พร้อมส่งไปประเทศที่สาม แต่ในส่วนสารที่มีคงเหลืออยู่ประมาณกว่า 3.8หมื่นตัน ตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้นำเข้า ต้องรับผิดชอบในการทำลาย เป็นเรื่องที่แปลกทั้งที่รู้ว่ารัฐบาลจะห้ามการใช้สารเคมี 3สาร ก็ยังมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง เพราะเอกชนต่างก็มั่นใจว่ายังงัยไม่มีทางแบนได้ ในขณะที่ฝ่ายการตลาดของบริษัท ไปขายแบบลดแลกแจกแถมซื้อ1ลิตรแถม3ลิตร เพื่อให้ไปอยู่มือเกษตรกร ไว้เยอะๆ จริงๆแล้วในเรื่องส่งออก นำเข้าสารเคมี มีกฎหมายแรงมาก ขนาดต้องปิดบริษัท ตนได้ให้กรมวิชาการเกษตร ดึงกฎหมายนี้ กลับมาก่อน เพื่อมาหารือกันก่อน มิฉะนั้นเจ๊งกันหมด ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลนี้ทำงานทุกอย่างอยู่บนโต๊ะ ไม่มีใต้โต๊ะ ต่อไปการส่งออกต้องมีการเสียภาษี จะน้อยจะมากต้องเสียภาษี และเอาเรื่องเหล่านี้มาอยู่บนโต๊ะ ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยให้นำเข้าสารเคมี ภาษีเป็นศูนย์ เพราะต้องการทำให้สินค้าถึงมือเกษตรกรในราคาที่ถูก แต่กลายเป็นช่องทางนำเข้า ไปส่งออก
“ไม่ว่าไปทางซ้ายหรือขวา ต้องมาคุยกันเราเป็นพี่น้องคนไทยด้วยกัน ซึ่งขอถามว่าทำไมที่ผ่านมาเอาเข้ามาเป็นแสนตันต่อปี ก็ขายได้หมด แต่ปีนี้เอาเข้ามาน้อยกลับยังมีสารเหลือ ถึงเวลาที่ทุกคนควรพูดความจริง ยึดประโยชน์สูงสุดคือเกษตรกร ประชาชน และประเทศชาติ ที่เราจะเดินหน้าไปด้วยกันได้ ดิฉันลงพื้นที่ถามเกษตรกร สหกรณ์ต่างๆทุกวันนี้เลิกใช้สารเคมีกันไปมากแล้ว ซึ่งทางสหกรณ์บอกว่าเขาต้องการเครื่องตัดหญ้า นี่คือความต้องการของเกษตรกร พรุ่งนี้จะไปประชุมสารวัตรเกษตร เพื่อย้ำว่าประเทศไทยจะต้องไม่มีการจับเกษตรกร ไม่ทำร้ายเกษตรกร หากพื้นที่ไหนเกษตรกรถูกจับเพราะครอบครอง3สาร แสดงว่าหน่วยงานล้มเหลวในการทำความเข้าใจกับเกษตรกร” น.ส.มนัญญา กล่าว
ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ไปตรวจบริษัท พบว่าแม้ว่าบริษัทนำเข้าอาจมีมาตรฐานของโรงงาน แต่บริษัทที่ซื้อนำไปผลิตในยี่ห้ออื่นๆต้องยอมรับมีการนำไปผสมในสัดส่วนต่างกันไปตรงนี้ไม่มีใครคุม แต่เกษตรกรรับกรรม จากใช้สารไม่ตรงตามคุณภาพ เรื่องนี้ต่อไปจะเข้มงวดคุมตั้งแต่ต้นน้ำ และยืนยันว่าไม่มีการยกเลิกสาร3ตัวนี้เพื่อให้มีการนำเข้าสารตัวใหม่ เพราะดิฉันไม่เคยแทรกแซงกรมวิชาการเกษตร ถ้าในอนาคตจะมีการนำเข้าเป็นเรื่องว่ากันไปตามหลักวิชาการ เรื่องพวกนี้ก็แปลกเวลาเชิญประชุมไม่มา กันแต่ไปให้เงินทำเสื้อมาด่า จ้างมาด่า ทั้งที่เราทำเพื่อประชาชน ลงพื้นที่ร้านค้า ก็บอกว่าบริษัทใหญ่ จ่ายตังรัฐมนตรีเกษตรแล้ว ยังงัยก็ไม่มีทางแบน จึงทำให้ไม่มีการเตรียมการอะไรกันเลย ทั้งที่ดิฉัน เข้ามารับตำแหน่งวันแรกก็มีนโยบายแบน3สาร เพราะได้มีข้อมูลหนักแน่น ในเรื่องผลกระทบเป็นพิษภัยต่อร่างกายมนุษย์เป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข เสนอแบน3สารมาตั้งแต่ปี2560
นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และประธานคณะทำงานตรวจสอบสตอก3สาร กล่าวว่าผลการตรวจสอบพบว่า ณ วันที่ 30 มิ.ย.62 มีผู้นำเข้า 103 บริษัท จำนวน 36,343 ตัน หลังจากนั้นมีการตรวจสอบรายงานสตอกครั้งที่1 วันที่5 ก.ค.พบว่ามีการนำเข้าจริง34,688ตัน และการตรวจสตอกครั้งที่สอง วันที่30ก.ย.มีจำนวน39,689ตัน ตรวจครั้งที่สาม วันที่30ต.ค.สตอกเหลือ 23,263ตัน ตรวจครั้งที่สี่ วันที่ 12 พ.ย.พบว่าสตอกมีอยู่ 38,885 ตัน คำถามทำไมสตอกของกรมวิชาการเกษตร จึงดิ้นได้ และที่บอกว่าข้อมูลของเราเป็นวิทยาศาสตร์เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ไม่ได้มโน จะพบว่าปี58 นำเข้า91,000ตัน ปี59 นำเข้า 96,000ตัน ปี60 นำเข้าแสนกว่าตัน และปี61 นำเข้า8.1หมื่นตัน พอปี62 นำเข้า3.6หมื่นตัน เพราะมีการห้ามนำเข้าเมื่อเดือนมิ.ย. ดังนั้นจะเห็นว่าปี60 ทำไมนำเข้าถึงแสนกว่าตัน ทั้งที่มีนโยบายจะแบนสารมาแล้ว ซึ่งสตอกมีชีวิตตลอดเวลาหรือสตอกที่แจ้งเป็นของตนหรือของสตอกคนอื่นด้วย แม้กระทั่งตนเป็นอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จะขอตัวเลขสตอก แต่ทางกรมบอกว่าต้องขอเป็นทางการ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสตอก
นอกจากนี้จากที่มีมาตรการจำกัดการใช้ และมาตรการอบรมเกษตรกร เป้าหมายอบรม1ล้านราย แต่มีเกษตรกรมาแจ้งอบรมใช้สาร 4แสนราย ณ วันที่13 พ.ย.62 ผ่านอบรมแล้ว3แสนราย ยกตัวอย่างกรณี จ.นครราชสีมา มีเกษตรกร ผ่านอบรม3หมื่นคน พื้นที่ปลูกพืช7แสนไร่ ที่ใช้สารเคมี ในข้าวโพด อ้อย มัน มีความต้องการใช้3สาร 675 ตัน เท่ากับไร่ละไม่ถึง1ลิตร ดังนั้นขณะนี้กำลังให้ทุกจังหวัดทำรายละเอียดเข้ามาว่าผลการอบรมและการผ่านอบรมทั้งหมดเท่าไหร่ และปริมาณสารต้องการใช้จริง เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการใช้จริงเท่าไหร่ ทั้งนี้ยืนยันว่าความเดือดร้อนทุกภาคส่วนไม่ได้ละเลย แต่กฎหมายมาตรา52 กำหนดว่าค่าใช้จ่ายในการทำลายเป็นภาระของเอกชนผู้นำเข้า ในส่วนราชกิจจาฯที่กำหนดระยะเวลาส่งเก็บคืน3สารทั้งหมดภายใน30วัน แบ่งเป็นแจ้งเตือน ส่งมอบ คราวละ15วัน ทั้งนี้มีผลต่อเมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีประกาศในราชกิจจาฯแล้ว
ด้านนายสกล มงคลธรรมากุล ที่ปรึกษาสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่าการดำเนินการเรื่องนี้มีระยะเวลาให้เอกชนเก็บคืนสาร ให้เวลาน้อยเกินไปเพราะได้กระจายจำหน่ายสารไปแล้ว ต้องมีขบวนการเรียกคืน นำส่ง ร่วมถึงติดตามที่ไปของสาร ขณะเดียวกันหากให้ส่งคืนประเทศต้นทาง คงเป็นเรื่องยากบริษัทต้นทางจะรับกลับ เพราะได้ซื้อจ่ายขาด และการเผาทำลายต้องทำถึง2ครั้งคือเผาสารและเผาควัน เป็นสารพิษร้ายแรง เกิดสารไดอ๊อกซินทางอากาศมหาศาล ใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะเผาหมด เพราะฉะนั้นควรชะลอการบังคับกฎหมายแบน3สาร ออกไปอีก2ปีหรือสองรอบการเพาะปลูก จะทำให้ใช้ในภาคเกษตรหมด ถ้าหากแบนจริงวันที่1 ธ.ค.นี้จะฟ้องศาลในเรื่องความเสียหายของ3สารไปเจอกันที่ศาล