กษ.เผยขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช 73ทะเบียน ผ่านประเมินคุณสมบัติไม่มีสารพิษตกค้างในอาหารและสิ่งแวดล้อม

กษ.เผยขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช 73ทะเบียน ผ่านประเมินคุณสมบัติไม่มีสารพิษตกค้างในอาหารและสิ่งแวดล้อม

 

เมื่อวันที่ 9 พ.ย.62 นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง การขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ว่า มีหลักเกณฑ์พิจารณา 3 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนการประเมินข้อมูลพิษวิทยาซึ่งคณะทำงานเพื่อพิจารณาชีวภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากพืชที่ใช้ควบคุมศัตรูพืชจะประเมินข้อมูลพิษวิทยาที่สำคัญประกอบด้วย คุณสมบัติทางกายภาพ เคมี และด้านเทคนิคของชีวภัณฑ์ พิษวิทยาและข้อมูลการรับสัมผัส สารพิษตกค้างใน/บนผลิตภัณฑ์อาหารและสิ่งแวดล้อม ผลของชีวภัณฑ์ต่อสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่เป้าหมาย กรรมวิธีการผลิตและแหล่งที่มาของเชื้อ ขั้นตอนต่อมาคือ การขอนำเข้าหรือผลิตตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการต้องยื่นคำขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าตัวอย่างวัตถุอันตรายซึ่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์จะแบ่งเป็น 2 ส่วนเพื่อวิเคราะห์ตามข้อกำหนดของวัตถุอันตรายและเพื่อทดสอบประสิทธิภาพเมื่อผลวิเคราะห์ตรงตามมาตรฐานผู้ประกอบการต้องนำตัวอย่างไปทดลองประสิทธิภาพภายใต้การควบคุมของนักวิชาการกรมวิชาการเกษตร และขั้นตอนสุดท้ายคือ การทดลองประสิทธิภาพซึ่งผู้ประกอบการต้องยื่นคำขออนุญาตทำการทดลองประสิทธิภาพวัตถุอันตรายขั้นการทดลองเบื้องต้นและแผนการทดสอบประสิทธิภาพ เมื่อการทดลองสิ้นสุดให้ส่งรายงานผลการทดลองประสิทธิภาพ พร้อมข้อความที่ขอระบุในฉลากที่ได้รับความเห็นชอบแล้วหากการดำเนินการดังกล่าวผ่านการพิจารณาผู้ประกอบการทำต้องหนังสือส่งผลการประเมินข้อมูลพิษวิทยาผลการทดลองประสิทธิภาพและผลวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยื่นที่กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร เพื่อนำเสนอข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร หากคณะอนุกรรมการฯ เห็นควรให้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพนักงานเจ้าหน้าที่จะออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายให้แก่ผู้ประกอบการต่อไป

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนฯ ให้ความสำคัญต่อการพิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มวัตถุอันตรายที่มีความปลอดภัยในทุกด้านได้แก่ สารสกัดจากธรรมชาติ สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช เป็นลำดับแรก ปัจจุบันมีสารชีวภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว 73 ทะเบียนดังนี้ Bacillus thuringiensis 57 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดหนอนใยผัก หนอนกระทู้ หนอนเจาะฝักลายจุด และหนอนหัวดำ Bacillus amyloliquefaciens 1 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในพริก Bacillus subtilis 8 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดโรคกาบใบแห้งในข้าว และโรคแอนแทรคโนสในพริก Beauveria bassiana 2 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาว Metarhiziumanisopliae 2 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้ายในมะเขือเปราะ Nuclear Polyhedrosis Virus (NPV) 1 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอม และ Trichoderma harzianum 2 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในพริก

ทั้งนี้ผู้ขอขึ้นทะเบียนทุกรายจะต้องทดลองประสิทธิภาพกับพืชและศัตรูพืชตามที่ระบุไว้ในฉลากเพื่อพิสูจน์ว่า วัตถุอันตรายที่ขอขึ้นทะเบียนสามารถใช้ได้ผลจริงในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่สำคัญจะต้องผ่านการประเมินข้อมูลพิษวิทยา เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้จะเป็นสารชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์หรือสารสกัดจากพืชก็ต้องขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายตามกฎหมาย