สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยชู “สหกรณ์ประมงแม่กลองโมเดล” เป็นต้นแบบการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานประมงทะเล สนองนโยบายรัฐบาลด้านการคุ้มครองแรงงานประมงทะเลของไทยให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล แก้ข้อกล่าวอ้างของสหรัฐอเมริกาที่ตัด GSP สินค้าไทย
นายมงคล เจริญสุขคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ผู้ประกอบการประมงให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการคุ้มครองแรงงานประมงทะเลให้อยู่ในมาตรฐานสากลมาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสหภาพแรงงานประมงทะเลในสถานประกอบการร่วมกับสมาคมประมงทะเลใน 22 จังหวัดมาตั้งแต่พ.ศ. 2557 จนกระทั่งวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานประมงทะเล” ขึ้นที่สหกรณ์ประมงแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงครามเป็นโครงการนำร่อง
ทั้งนี้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานสหกรณ์ประมงแม่กลองมีองค์ประกอบคือ ผู้แทนจากเจ้าของเรือประมง ลูกเรือประมง และหน่วยงานวิชาการ มีการประชุมของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานจัดขึ้นทุก 2 เดือนที่สหกรณ์ประมงแม่กลอง โดยศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นได้รับอาสาเป็นฝ่ายเลขานุการของที่ประชุมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างในการจัดทำวาระการประชุมและจดบันทึกการประชุมแต่ละครั้ง การประชุมก้าวหน้าเป็นอย่างดียิ่ง ฝ่ายลูกจ้างทั้งที่เป็นไต๋เรือและลูกเรือประมงชาวต่างชาติได้ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการคุ้มครองแรงงาน เช่น เรื่องลูกเรือสูญหายขณะออกทำการประมงและการแจ้งการสูญหายต่อทางการเพื่อให้ครอบครัวของแรงงานได้รับประโยชน์สูงสุดที่พึงได้ตามกฎหมาย และเรื่องภาวะสุขภาพและการใช้ยาเสพติดบนเรือประมง ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการได้รับฟังเสียงของลูกเรืออย่างเต็มที่และช่วยกันพิจารณาแก้ไขปัญหา ขณะที่ฝ่ายนายจ้างได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างเช่นความก้าวหน้าในการจัดให้ลูกจ้างเข้าเป็นสมาชิกกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายใหม่และการชดเชยที่จะได้รับ ตลอดจนความก้าวหน้าในการหารือกับภาคเอกชนเพื่อจัดให้มีการประกันอุบัติเหตุนอกการทำงานและประกันสุขภาพให้แก่แรงงานประมงทะเล ซึ่งจะเป็นต้นแบบการจัดทำในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
นายมงคลกล่าวว่า การเจรจากับสหรัฐอเมริกาเพื่อขอคืนสิทธิ GSP นั้นจำเป็นต้องชี้แจงให้เข้าใจบริบทประเทศไทยที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก แม้จะยังไปไม่ถึงขั้นให้แรงงานต่างด้าวมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว ได้เหมือนแรงงานไทยได้ แต่การจัดตั้งคณะกรรมการสวัดิการ ให้คนงานมีสิทธิมีเสียงได้ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการดำเนินการตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์และการคุ้มครองแรงงานประมงทะเลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานทำให้การคุ้มครองแรงงานประมงทะเลของประเทศไทยอยู่ในระดับมาตรฐานสากล นั้น เรื่องที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของภาครัฐคือ กรณีการให้แรงงานต่างด้าวสามารถตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทยได้ การให้ลูกจ้างเหมาสามารถตั้งสหภาพแรงงานในไทยได้เช่นกัน และการให้สิทธิคุ้มครองแก่ลูกจ้างในการที่จะไม่ถูกฟ้องกลับจากนายจ้าง ซึ่งตนเห็นว่า เรื่องเหล่านี้มีผลกระทบจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายก่อน แต่ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระแรกไปแล้ว เมื่อทุกภาคส่วนพร้อมก็สามารถพัฒนาไปตามขั้นตอน หากทำเร็วไปอาจมีผลกระทบในหลายด้าน จึงต้องชี้แจงให้สหรัฐเข้าใจว่า ไทยไม่ได้ละเลย แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไปตามบริบทของประเทศ