สวพ.7 รุกยกระดับคุณภาพความปลอดภัยพืชผักแปลงใหญ่ภาคใต้ตอนบน ป้อนเทสโก้-โลตัสรองรับผู้บริโภค 58สาขาใน14 จว.ภาคใต้
พร้อมดันเกษตรกรแปลงใหญ่เข้าสู่ระบบGAP- พืชอินทรีย์แล้วจำนวน 51 กลุ่มจำนวน1,500 กว่ารวมพื้นที่ 15,400 กว่าไร่รับกระแสบริโภคพืชผักปลอดภัย
นายวิรัตน์ ธรรมบำรุง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7(สวพ.7) กล่าวว่า ตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมกลุ่มพืชผักแปลงใหญ่ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมผสานแบบยั่งยืนบางท่าข้าม ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานีเมื่อเร็วๆนี้ พร้อมให้นโยบายกรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการตรวจต่ออายุและการตรวจติดตามผลของการรับรองแหล่งผลิตGAP พืชและการผลิตพืชอินทรีย์ เพื่อยกระดับคุณภาพความปลอดภัยของสินค้าเกษตรให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของผู้บริโภคและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยกลุ่มดังกล่าวได้ยื่นขอการรับรองการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สดตามข้อกำหนดของมาตรฐาน มกษ.9035-2553 และได้รับการรับรองตามมาตรฐานในปี 2562 ตามขอบข่ายพืช 16 ชนิดคือ ผักบุ้งจีน คะน้า กวางตุ้ง กวางตุ้งไต้หวัน ผักชีไทย ผักกาดหอม บวบเหลี่ยม มะระจีน พริกขี้หนู ฟักทอง ถั่วฝักยาว ฟักเขียว คื่นช่าย คะน้ายอด แตงร้าน ฮ่องเต้ไต้หวันจากสวพ.7 และใช้กลไกการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยเข้าด้วยกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดการใช้สารเคมี มีการจัดทำแผนการผลิตอย่างเป็นระบบมีการการเชื่อมโยงการตลาด ภายใต้แนวทาง “การตลาด นำการผลิต” โดยทำ MOU ซื้อขายผลผลิตกับ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด หรือ เทสโก้โลตัส เพื่อนำผลผลิตขึ้นวางบนห้างเทสโก้โลตัสใน 58 สาขาในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้
สำหรับ กลุ่มแปลงใหญ่ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมผสานแบบยั่งยืนบางท่าข้าม มีนายสมพนธ์ ไทยบุญรอดเป็นประธาน มีสมาชิก 62 ราย พื้นที่ 360 ไร่ ได้สร้างการรับรู้ ความเข้าใจมาตรฐานสินค้าเกษตรตามนโยบายโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานแก่กลุ่มแปลงใหญ่ เข้าสู่การรับรอง GAP 41 แปลง 62 ไร่ ปี 2561 ขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัยต่อเนื่องร่วมกับตลาดนำการผลิตโดยรับรอง GAP เพิ่มขึ้น 83 แปลง ในพืช 5 ชนิด ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง กวางตุ้งไต้หวัน ผักบุ้ง และมะระจีน และได้เชื่อมโยงตลาดกับบริษัทเทสโก้ โลตัส รวมทั้งได้ขยายขอบข่ายการรับรองเพิ่มอีก 4 ชนิดพืช ได้แก่ ผักกาดหอม ผักชีไทย บวบเหลี่ยม และพริกขี้หนูยอดสน
นอกจากนี้ในปี 2562 กลุ่มแปลงใหญ่พืชผักบางท่าข้าม ได้ขยายสมาชิกเครือข่ายแปลงใหญ่พืชผักสู่พื้นที่อื่นๆได้แก่ต.เขาหัวควาย อ.พุนพิน ต.มะลวน อ.คีรีรัฐนิคม และต.ต้นยวน อ.พนม ในการขยายขอบข่ายการผลิตพืช Gap อีก 2 ชนิดพืช คือ ฟักเขียวอ่อน กับ ฟักทอง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 100 กว่าราย ได้รับรอง GAP จำนวน170 กว่าแปลง พื้นที่ 1,000 กว่าไร่ ใน 11 ชนิดพืชตามขอบข่ายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP พืช และได้รับรองมาตรฐานโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ มกษ.9035-2553 จากสวพ.7 โดยมีปริมาณการจำหน่ายผลผลิตพืชผักแก่เทสโก้ โลตัสเฉลี่ย 4 ตัน/วัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการส่งพืชผัก เกษตรกรมีรายได้จากการส่งพืชผัก ประมาณ 15,000 บาท/ราย/เดือน
นายวิรัตน์ กล่าวด้วยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพการผลิตพืชผักปลอดภัยตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตระหนักว่าปัจจุบันตลาดภายในและต่างประเทศให้ความสำคัญกับระบบคุณภาพความปลอดภัยของสินค้าเกษตร อีกทั้งกระแสผู้บริโภคต่างที่คำนึงถึงคุณภาพความปลอดภัยและการจัดการสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยในฐานะประเทศส่งออกสินค้าเกษตรส่งออกตลาดโลก จึงมีความจำเป็นต้องควบคุมความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ
โดยผลดำเนินงานของสวพ.7ที่ผ่านมา ได้ระดมเจ้าหน้าที่ออกตรวจรับรองแปลง และเก็บตัวอย่างผลผลิตพืชอินทรีย์ทั้งระดับแปลง ตลาดสดและห้างโมเดิร์นเทรดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค รวมทั้งเร่งดำเนินการถ่ายทอดวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตพืช เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต พร้อมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และให้การรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP มกษ.9001-2556 และมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ มกษ.9000 เล่ม 1-2552 และมาตรฐานโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ มกษ.9035-2553 เพื่อเพิ่มมูลค่าพืชผักกลุ่มแปลงใหญ่ 51 กลุ่ม ได้รับรอง GAP พืช 1,500 กว่าราย 1,700 กว่าแปลงรวมพื้นที่ 15,400 กว่าไร่ โดยแยกกลุ่มแปลงใหญ่ตามจังหวัด ดังนี้ จังหวัดสุราษธานีจำนวน 15 กลุ่ม จังหวัดพังงา1 กลุ่ม จังหวัดภูเก็ต 4 จังหวัดกลุ่มนครศรี 15 กลุ่ม จังหวัดระนอง 8 กลุ่ม จังหวัด ชุมพร 4 กลุ่ม และจังหวัดประจวบ 4 กลุ่ม ในจำนวนดังกล่าวแยกกลุ่มแปลงใหญ่ตามชนิดพืชได้ดังนี้ ปาล์มน้ำมัน 16 กลุ่ม มังคุด 11 กลุ่ม ไม้ผลผสมผสาน 6 กลุ่ม มะพร้าว 4 กลุ่ม กล้วยหอม 2 กลุ่ม สับปะรด 2 กลุ่ม ทุเรียน 2 กลุ่ม เงาะ 2 กลุ่ม พืชผัก 2 กลุ่ม มะม่วงหิมพานต์ 1 กลุ่ม สมุนไพร 1 กลุ่ม ผักเหลียง 1 กลุ่มและเห็ด 1 กลุ่ม
นอกจากนี้ สวพ.7 ยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานีและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราชเตรียมคัดเลือกเกษตรกร GAP ดีเด่นและแปลงพืชอินทรีย์ดีเด่นระดับเขต ปี 2563 โดยล่าสุดได้ลงพื้นที่ตรวจคัดเลือกแปลงเกษตรกรดีเด่น สาขาระบบการจัดการคุณภาพ GAP พืช จำนวน 3 แปลง ได้แก่ 1.แปลงนายวุฒิชัย วัยวัฒน์ (ทุเรียนสาลิกา) อ.กะปง จ.พังงา 2.แปลงนายพิชิต ชูมณี (พืชผสมผสาน) อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ 3.แปลงนางพรศรี โชติพันธ์ (มังคุด) อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช และตรวจคัดเลือกแปลงเกษตรกรพืชอินทรีย์ดีเด่น จำนวน 3 แปลง 1.แปลงนายธนวัฒน์ มโนวชิรสรรค์ (ไม้ผล) อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา 2.แปลงนายบรรลุ บุญรอด (เห็ด) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี 3.แปลงนางสาวศิริรัตน์ พุมดวง (ผักเหลียง) อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช