กรมชลฯ ไม่ทนแล้ว!! ลงดาบเชือด บ.สยามพันธ์ ยกเลิกสัญญาจ้าง หลังทิ้งงาน 4 สัญญารวด
เร่งหารือสำนักงบประมาณ ขออนุมัติกระทรวงเกษตรฯให้กรมชลฯดำเนินการเอง
เมื่อวันที่ 22 ต.ค.62 นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายก่อสร้าง เปิดเผยว่า กรมได้มีการบอกเลิกสัญญาเอกชนที่ก่อสร้างโครงการของกรมชลประทานใน 4 โครงการเนื่องจากทิ้งงานและไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งกรมบอกเลิกสัญญาแล้วเมื่อ2 เดือนที่ผ่านมา และกรมได้ขอหารือสำนักงบประมาณ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงจากการจ้างเหมา มาให้กรมดำเนินการเอง ตามมาตรา 23 ของพรบ.งบประมาณ เช่น กรณีโครงการปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สำนักงบประมาณได้อนุมัติให้กรมดำเนินการเองแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้รมว.เกษตรฯ อนุมัติให้กรมดำเนินการตามกฎหมาย
“กรณีงานปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร. 1 ซึ่งเป็นโครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ ที่กรมยกเลิกนั้น กรมได้บริหารและเร่งรัดงานตามเงื่อนเวลาถึงที่สุด จนเมื่อครบกำหนดจึงบอกเลิกสัญญา แต่ทั้งนี้แม้จะก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ขณะนี้สามารถที่จะระบายน้ำได้ในอัตรา 1,000 ลุกบาศก์เมตร(ลม.บ.)ตอวินาที จากศักยภาพคลองตามเป้าหมายโครงการ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที สามารถบรรเทาอุทกภัยได้กรณีเกิดน้ำหลาก อย่างไรก็ตามโครงการนี้ทันทีที่รมว.เกษตรฯอนุมัติขยายเวลาออกไปถึงปี 2563 แล้ว กรมจะเร่งดำเนินการให้เสร็จในกรอบเวลาที่กำหนด เพราะเครื่องมือ เครื่องจักรพร้อม ทั้งนี้ยืนยันว่าการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นงานจ้างเหมา หรืองานกรมดำเนินการเอง กรมถือปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย มติ ครม.ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ” นายประพิศกล่าว
สำหรับ 4โครงการที่กรมยกเลิกสัญญาประกอบด้วย
- งานปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร 1 พร้อมอาคารประกอบสัญญาที่ 1 โครงการบรรเทาอุทกภัยอ.หาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จ.สงขลา วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลอง ร.1จากเดิม 465 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,200 ลบ.ม./วินาที เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
- โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขต อ.เมือง จ.ตรัง พื้นที่ประมาณ 10,525 ไร่ และเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค ประมาณ 3.2 ล้าน ลบ.ม.
- โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน จ.ตาก เป็นการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษตากและบรรเทาอุทกภัยให้กับประชาชนในเขตเทศบาลนครแม่สอด
- งานก่อสร้างอาคารบริหารจัดการน้ำบริเวณประตูระบายน้ำปลายคลองระพีพัฒน์ (ปตร.พระธรรมราชา)เป็นอาคารที่ใช้ควบคุมการบริหารจัดการน้ำในคลองระพีพัฒน์
สำหรับโครงการทั้งหมดเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนงานของกรมชลประทาน ในการพัฒนาแหล่งน้ำและการป้องกันบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยรูปแบบการดำเนินงานก่อสร้างโครงการของกรม มี 2 ประเภท คืองานกรมดำเนินการเอง โดยใช้บุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือของกรมชลประทาน และงานจ้างเหมา ซึ่งได้ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทนกรม กรณีงานล่าช้ากว่าแผน ผู้รับจ้างเหมาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา หากล่าช้าไม่ตามแผนงานให้คณะกรรมการจ้างงานพิจารณาและบอกเลิกสัญญา แต่สำหรับงานที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนจะมีการปรับแผนมาเป็นงานกรมดำเนินการเองเนื่องจากกรมชลประทานมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์เพียงพอและสามารถเร่งรัดงานให้แล้วเสร็จทันเวลา
ทั้งนี้แหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ใน 4 สัญญาที่ยกเลิก เป็นของเอกชนรายเดียว 3 สัญญา คือ บริษัทสยามพันธุ์วัฒนา ฯ คือ โครงการอุทกภัยหาดใหญ่ (ปี 58-62) งานคงเหลือประมาณ 20% โครงการระบบระบายน้ำตรัง(59-62) งานคงเหลือ 60% โครงการอ่างแม่สอดตอนบน กำหนดเสร็จปี 62 งานคงเหลือ 2% อย่างไรก็ตามบริษัทดังกล่าว ยังมีสัญญาที่กำลังก่อสร้างโครงการขุดอุโมงค์ส่งน้ำแม่กวง แม่งัด จ.เชียงใหม่ โดยมีปัญหางานล่าช้ากว่าแผนไปมากเช่นกัน ซึ่งกรมชลฯอยู่ระหว่างเรียกบริษัท มาเจรจาหาทางออก แก้ปัญหาโครงการขุดอุโมงค์ ที่ไม่แล้วเสร็จตามแผน โดยโครงการต่างๆที่บริษัทนี้ประมูลงานได้ในราคาต่ำสุด ทำให้งานของกรมชลฯหลายพื้นที่ไม่คืบหน้าตามแผนบูรณาการน้ำและส่งผลเกิดปัญหาทิ้งงาน