เกษตรกรกลุ่มมันสำปะหลังสุดทน มอบพวงหรีดให้ รมช. เกษตร
หยุดทำร้ายเกษตรกร ยกเลิกพาราควอต
15 ตุลาคม 62 นายวชิระ ถนัดค้า ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง พร้อมด้วยเกษตรกร 60 ราย ตัวแทนครอบครัวเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลัง 1.5 ล้านราย เดินทางมาจากอำเภอหนองบุญมาก ครบุรี และเสิงสาง ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้เดินทางมายังกระทรวงเกษตรฯทเพื่อยื่นหนังสือ ให้ทบทวนการพิจารณายกเลิก สารเคมี จากหนึ่งใน3สารที่จะยกเลิกคือ พาราคอต พร้อมกับมอบพวงหรีดให้แก่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ตัดสินใจไร้เหตุผลและขาดเท็จจริง โดยอ้างผลกระทบสุขภาพประชาชน และใช้ข้อมูลบิดเบือนจาก NGO ขณะที่เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตร ในส่วนเกษตรอุตสาหกรรมอย่างมันสำปะหลัง อ้อย ปาล์ม ยางพารา ยังมีความจำเป็นต้องใช้ซึ่งไม่สามารถนำสารใดมาทดแทนได้
โดยมีนายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด เลขานุการของ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมารับเรื่องแทน
โดยนายเมฆินทร์ กล่าวว่า “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรู้ถึงปัญหาเกษตรกรเป็นอย่างดี และจะนำข้อเสนอเรื่องการจัดการปัญหาโรคไวรัสใบด่าง การยกเลิกการแบนสามสารเคมี และราคาผลิตผลมันสำปะหลัง ไปดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุดโดยจะเรียนเรื่องราวข้อร้องเรียนของ เกษตรกร เสนอต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว เกษตตรฯ ให้รับทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป
ขณะที่นายวชิระ ถนัดค้า ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เปิดเผยว่า ประเทศไทยผลิตมันสำปะหลังเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน รวมทั้งส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 100,000 ล้านบาท เป็นผลผลิตจากเกษตรกรไทย 542,000 ครอบครัว หรือ 1.5 ล้านราย ในพื้นที่ประมาณ 7.9 ล้านไร่ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคน อาหารสัตว์ เอทานอล และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเช่น กระดาษ กาว ยา ซึ่งจากประเด็นการแบนสารพาราควอตและที่เกิดขึ้นเท่าที่มีการตรวจสอบพบว่ามีขบวนการการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในหลายด้านทั้งเรื่องส่งผลกระทบต่อราคา ผลผลิตทางการเกษตร และมาตรฐานอุตสาหกรรมการผลิตหากยังใช้สารพาราควอต ในความเป็นจริง การนำมันสำปะหลังไปใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร โรงงานผลิตมันสำปะหลังมีระบบประกันคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ISO GMP HACCP ขณะเดียวกัน สำนักงานมาตรฐานสินค้า ก็มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เคยพบสารพาราควอตในมันสำปะหลัง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า มันสำปะหลังมีคุณภาพดีและปราศจากการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นตามข้อมูลที่ประกอบในการยกเลิก และหากกระทรวงเกษตรฯยังไม่มีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและมีการห้ามใช้ พาราควอต จะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น ผลผลิตสูญหาย และกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและมันสำปะหลังเส้น จนถึงการส่งออกไปต่างประเทศ
ทั้งนี้เกษตรกรชาวไร่มัน ต้องออกมาวันนี้ เพราะเดือดร้อนหนัก ตั้งแต่เรื่องความล้มเหลวของภาครัฐในการป้องกันโรคไวรัสใบด่าง ต้องเผาทำลายมัน เร่งเก็บเกี่ยวเร็วขึ้น การประกันราคาจากภาครัฐก็ยังไม่ตกผลึก และ รมช ก็จะมาแบนพาราควอตในสภาวะที่ราคาตกต่ำ เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนจากราคาพาราควอตที่สูงขึ้นจากข่าวการแบนในสองปีที่ผ่านมา ปัญหาเหล่านี้ เคยลงมาถามเกษตรกรหรือไม่ ความเดือดร้อนของเกษตรกรคือสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯต้องให้ความสำคัญ เร่งช่วยเหลือ ไม่ใช่มาซ้ำเติม วันนี้เรามายื่นหนังสือคัดค้านการแบนพาราควอต เร่งรัดเรื่องการประกันราคา และเร่งช่วยเหลือชาวไร่มันเรื่องโรคใบด่าง แล้วเราจะกลับมาฟังคำตอบอีกครั้ง เกษตรกรมันสำปะหลังจำเป็นต้องใช้พาราควอต ปลอดภัยต่อหัวมันใต้ดินมากที่สุด เพราะพาราควอตไม่ดูดซึม ชาวไร่มันไม่ขัดข้องถ้าจะยกเลิกไกลโฟเซตหรือคลอร์ไพรีฟอส แต่ไม่ควรยกเลิกพาราควอตเพราะไม่มีแรงงานที่จะมาใช้ในการดายหญ้า โดยจากนี้ไปเกษตรกรจะรอดูว่ากระทรวงเกษตรจะแก้ปัญหาอย่างไรหากยังเดินหน้ายกเลิกก็พร้อมที่จะรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อเรียกร้องถึงความเดือดร้อนของเกษตรผู้ปลูกมันสำปะหลังต่อไป