สศก. ขานรับนโยบายเกษตรอินทรีย์ ขับเคลื่อนแผน เพิ่มพื้นที่ให้ได้ 1.3 ล้านไร่ ตามเป้าในปี 65
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เปิดเผยว่า นโยบายสนับสนุนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ซึ่งเน้นการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการผลิตที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ ที่มีความปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในประเทศ
ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งผลักดัน “(ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ….” ซึ่งเป็นอีกกลไกหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ด้วยระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ วนเกษตร และอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ สศก. ได้จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560-2565” โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายในปี 2565” พร้อมทั้งเร่งผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ไปใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ และเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย ภายในปี 2565 รวมทั้งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี
ด้านนายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เน้นประเด็นการพัฒนาหลักใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการส่งเสริมการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ฐานข้อมูล และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ (2) ด้านพัฒนาการผลิตและการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ และ (3) ด้านการพัฒนาการตลาด การบริการ และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ กลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์มีทั้งระดับประเทศ และระดับพื้นที่ ประกอบด้วย คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และคณะทำงานการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด ซึ่งมีองค์ประกอบมาจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้แทนเกษตรกร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบรรลุ ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
อย่างไรก็ตามจากการผลักดันการดำเนินงานด้านนโยบายเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 โดยใช้แนวทาง “ตลาดนำการผลิต” และการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร ผู้ผลิต และการตลาด ส่งผลให้ปี 2562 มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จำนวน 521,826.56 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีพื้นที่ 230,946 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 126 มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จำนวน 40,774 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 10,754 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 276 (ข้อมูล กรมพัฒนาที่ดิน ณ 28 พฤษภาคม 2562) โดยพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ คือ พื้นที่ปลูกข้าว ผัก และผลไม้ โดยด้านการตลาด พบว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ส่งออกที่สำคัญของไทยใน ปี 2561 ได้แก่ ข้าว มะพร้าวอ่อน มังคุด ทุเรียน ใบชาเขียว และกะทิสำเร็จรูป โดยข้าวอินทรีย์ มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี จีน สวิตเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ส่วนมะพร้าวอ่อน มังคุด ทุเรียน ใบชาเขียว กะทิสำเร็จรูป มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสินค้าอินทรีย์ ของไทยยังคงมีทิศทางความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง