รมช.ธรรมนัส ลงพื้นที่ติดตามความก้าวโครงการนำร่องการบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง บ้านบางเจริญ กระบี่ หนุนเกษตรกรทำเกษตรแปลงใหญ่ผสมผสาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวโครงการนำร่องการบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ณ บ้านบางเจริญ หมู่ที่ 5 ตำบลนาเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ว่า เดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ชื่อป่าเขาแก้ว และป่าควนยิงวัว ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 543 พ.ศ.2516 และพื้นที่บริเวณดังกล่าวกรมป่าไม้ได้ให้บริษัท จิตรธวัชสวนปาล์ม จำกัด ใช้ประโยชน์ในการปลูกปาล์มน้ำมันและได้หมดอายุการอนุญาตเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ ตำบลเขาเขน ตำบลเขาต่อ อำเภอปลายพระยา และ ตำบลนาเหนือ ตำบลเขาใหญ่ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
ทั้งนี้เมื่อปี พ.ศ.2557 ชาวชุมชนตำบลนาเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ มีความต้องการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการเกษตรและมีการทำประชาพิจารณ์ของชุมชนผ่านทางองค์การบริหารส่วนตำบลนาเหนือให้มีการของบประมาณจากกรมพัฒนาที่ดิน ผ่านสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่และได้ขออนุญาตใช้พื้นที่กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่ เพื่อก่อสร้างแหล่งน้ำขนาด 77,000 ลูกบาศก์เมตร ดำเนินการในปี 2558 และในปี 2560 ได้วางระบบท่อส่งน้ำความยาว 3,000 เมตร และจัดทำโครงการนำร่องการบริหารจัดการดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยการปรับสภาพพื้นที่และแบ่งเป็นแปลงย่อยขนาด 2 ไร่ จำนวน 60 แปลง รวมพื้นที่ที่ขออนุญาตใช้จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่ จำนวน 215-0-71 ไร่
ปัจจุบันเกษตรกรและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำให้มีขวัญ และกำลังใจที่จะพัฒนา สั่งสมความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพของตนจนเกิดความชำนาญ เกษตรกรมีความสุขที่จะผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค เสริมสร้างประเพณีวัฒนธรรมการอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของสังคมไทยให้กลับคืนมา เป็นแปลงต้นแบบการบริหารจัดการดินและน้ำตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ นำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อไป
อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในระยะต่อไป จะขยายผลพื้นที่ต้นแบบดังกล่าว เพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ร่วมโครงการ และส่งเสริมให้พื้นที่ทั้งหมดกลายเป็นจุดเรียนรู้ ให้กับกลุ่มเกษตรกรและผู้สนใจมาศึกษาดูงาน โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรวางระบบการปลูกพืช มีการกำหนดชนิดพืช ช่วงเวลาการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิต อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามความต้องการของตลาด ส่งเสริม/สนับสนุนและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มสมาชิกเกษตรกรผู้ร่วมโครงการด้านการผลิตพืชอาหารปลอดภัย เพื่อก้าวไปสู่การผลิตพืชอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งมีการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรในพื้นที่ต้นแบบฯ และพื้นที่อื่นๆ จัดทำเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน “ต้นแบบการจัดการดินและน้ำตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อขยายผลไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปด้วย” รมช.ธรรมนัส กล่าว