นายกเมืองพัทยามั่นใจพัทยาจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกแห่งใหม่ ประกาศปรับแนวบริหารให้สอดคล้องกับ อีอีซี โดยสร้างแพลตฟอร์มให้ชาวบ้าน นักธุรกิจ ร่วมกระบวนการพัฒนากับเมืองพัทยา ให้เกิดความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายสนธนยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยากล่าวในการประชุมกับภาคีภาคส่วนต่างๆ ว่า เมืองพัทยาในฐานะเขตบริหารพิเศษ มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องแล้ว 40 ปี และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งดำเนินการมาแล้ว 60 ปี ทำให้ชลบุรีและเมืองพัทยาก้าวหน้ามาอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีจีดีพีเกือบ 1,000,000 ล้านบาท เป็นอันดับที่สองของประเทศ มีรายได้จากการท่องเที่ยว 200,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ชลบุรี/พัทยา ยังมีความก้าวหน้าทางสังคมอย่างน่าพอใจ ดังเช่นในรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคน ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่รายงานว่า ชลบุรี/พัทยามีระดับการพัฒนาโดยรวมอันดับหกของประเทศ เป็นอันดับสองด้านชีวิตแรงงาน เป็นอันดับสามด้านการศึกษา เป็นต้น
“แต่เรากำลังสำลักความก้าวหน้า โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม และการบริหารเมือง เพราะต้องมาเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง เช่น น้ำท่วม น้ำเสีย ขยะ ที่จะกระทบกับทุกสิ่งที่เรามี นอกจากนี้ อีอีซี กำลังจะเข้ามาอีก ถ้าเราไม่เร่งปรับตัวแก้ปัญหาแล้วตามให้ทัน อีอีซี ก็อาจจะกลายเป็นตัวฉุดรั้งทั้งพัทยาและความก้าวหน้าของประเทศ”
นายสนธยา กล่าวว่า รายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ระบุว่า มีการขอส่งเสริมการลงทุนในเขตสามจังหวัดของ อีอีซี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) แล้วประมาณ800,000 ล้านบาท ระหว่าง มกราคม 2561 –มิถุนายน 2562 ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในชลบุรีประมาณ 640,000 ล้านบาท
“นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ว่า ชลบุรี/พัทยาจะอยู่นิ่งๆ แล้วรอไม่ได้แล้ว เราจึงต้องหาแนวทางที่ดีกว่าในปัจจุบันที่จะขับเคลื่อนอนาคตได้ดีกว่า เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานะและฐานะทางกฎหมายของเมืองพัทยาทำให้ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้มากนัก ขณะที่ส่วนงานของ อีอีซี ก็กระจายไปตามหน่วยราชการที่หลากหลาย ทำอย่างไรจะเป็นเนื้อเดียวกันเท่าที่จะเป็นได้”
นายสนธยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมืองพัทยาจัดประชาคมประชาชนในเรื่องต่างๆ แต่จากการเปลี่ยน แปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเตรียมที่จะสร้างเป็นองค์กรถาวรในลักษณะเครือข่าย ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นมูลนิธิพัฒนาพัทยาได้ต่อไป
“เราได้ศึกษาหลายๆ ทางเลือก โดยเป้าหมายคือการลดข้อจำกัดทางราชการ อย่างเช่น การจัดตั้งบริษัทกรุงเทพธนาคม หรือแม้แต่ขอนแก่นโมเดล เพื่อดูข้อดีข้อเสีย แล้วเอามาปรับใช้กับพัทยาในอนาคต”
เครือข่ายพัฒนาพัทยาจะประกอบด้วยภาคส่วนสำคัญคือ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ภาคการศึกษา ภาคสาธารณสุข ภาคราชการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งจะเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำกับเมืองพัทยาและจังหวัดชลบุรี อันจะเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดความยั่งยืนได้ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
“ตัวอย่างชัดเจนคือพัทยามีขยะวันละ 460 ตัน เพราะเรามีประชากรกับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และขยะเหล่านี้ไม่มีทางจะแก้ไขได้หมดถ้าผู้ทำให้เกิดขยะไม่เข้ามาร่วมมือด้วย แต่ถ้าเกิดการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งแล้ว ชลบุรี/พัทยา ก็จะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ประชาชนก็มีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่”
ปัจจุบัน เมืองพัทยาได้ร่วมมือกับ กรมโยธาธิการวางแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างครบวงจรเป็นที่เรียบร้อย และเริ่มดำเนินการในระยะต้นแล้วโดยเมืองพัทยาเอง – วางระบบบำบัดน้ำเสียใหม่จากปัจจุบันบำบัดได้ 67,000 ลูกบาศก์เมตรเป็น 130,000 ลูกบาศก์เมตร – ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลพัฒนาต้นแบบ เครือข่าย 5G บริเวณชายหาดพัทยา วางระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารเมืองพัทยา – และร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการตามแผนงานพัฒนาพัทยาไปสู่ศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การตลาด และพัฒนาบุคลากร
นายสนธยา กล่าวย้ำว่า การพัฒนาของ อีอีซี ที่จะเกิดประชากรเพิ่มขึ้น 3,000,000 คน นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นสามเท่าจากเดิมที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 14 ล้านคน มีการลงทุนเบื้องต้น 1.7 ล้านล้านบาท จะทำให้กายภาพของเมืองเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
“นี่เป็นโอกาสที่จะเปิดศักราชใหม่ของพัทยา เป็น Neo Pattaya ผมเรียกแนวนี้ว่า พัทยาโฉมใหม่ ก้าวไกล ไม่ทิ้งกัน ซึ่งจะเป็นค่านิยมหลักของเราในอนาคต”
การเข้ามาของ อีอีซี และการลงทุนต่างๆ จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของพัทยาซึ่งปัจจุบันพึ่งพาการท่องเที่ยวเกือบ 80% ไปสู่เมืองชายทะเลที่มั่นคงกว่าเดิม ยืนอยู่บนธุรกิจหลายสาขา เช่น เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ก็จะเป็นการกรุยทางไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ โดยไม่มีขีดจำกัด ทั้งสตาร์ทอัพ การเงิน และอื่นๆ
“เราลองเปรียบเทียบพัทยากับเมืองชายทะเลอื่นๆ เช่น ไมอามี่ ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับพัทยา จำนวนนักท่องเที่ยวพอๆ กัน แต่ จีดีพีต่างกัน พัทยาต่ำกว่าสิบกว่าเท่า เพราะไมอามี่เป็นศูนย์ท่องเที่ยว และธุรกิจสาขาต่างๆ และเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งเมื่อ อีอีซี เข้ามาทำให้ศักยภาพของพัทยาสูงขึ้นมาก เพียงแต่เราต้องตามให้ทัน และทำให้ยั่งยืน”