“เฉลิมชัย” ลั่น  หนุน “มนัญญา” ฟันธงยกเลิก3สารเคมี ตัวปัญหาย้ำให้ “มนัญญา” เร่งกรมวิชาการเกษตร หาสารทดแทนตามเงื่อนไขของคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้เร็ว เพื่อไม่ให้เป็นข้ออ้างยื้อเรื่องออกไป บ่ายนี้ประชุมผู้แทน 4 ภาคส่วนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ด้านเครือข่ายต้านการใช้สารพิษ 686 องค์กรตั้งขอสงสัยโครงสร้างคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ เหตุใดลดผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข

“เฉลิมชัย” ลั่น  หนุน “มนัญญา” ฟันธงยกเลิก3สารเคมี ตัวปัญหาย้ำให้ “มนัญญา” เร่งกรมวิชาการเกษตร หาสารทดแทนตามเงื่อนไขของคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้เร็ว

เพื่อไม่ให้เป็นข้ออ้างยื้อเรื่องออกไป บ่ายนี้ประชุมผู้แทน 4 ภาคส่วนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

ด้านเครือข่ายต้านการใช้สารพิษ 686 องค์กรตั้งขอสงสัยโครงสร้างคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ เหตุใดลดผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกทราบถึงการนัดประชุมของผู้แทน 4 ภาคส่วน เพื่อหาข้อสรุปในการยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด ซึ่งเป็นบัญชาของนายกรัฐมนตรีที่ห่วงใยเรื่องนี้อย่างยิ่ง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน จึงให้ผู้แทนภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภคร่วมกันหารือถึงปัญหา การแก้ไข และผลกระทบ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจกันและหาวิธีได้เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมว่า รัฐบาลไม่ได้เอื้อประโยน์ต่อผู้นำเข้าสาร 3 ชนิดนี้ แล้วรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบด้วย

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ มีจุดยืนชัดเจนที่จะยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งได้เรียน รมช. มนัญญา ซึ่งเป็นประธานการประชุมวันนี้ว่า ตัดสินใจได้เลย อีกทั้งในฐานะที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรได้ให้รมช. มนัญญาเร่งรัดกรมวิชาการเกษตรให้หาสารทดแทนและสารทดแทนดังกล่าวต้องไม่กระทบกับเกษตรกรทั้งเรื่องของราคา คุณภาพ รวมถึงความเป็นพิษ ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน เพื่อไม่ให้ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งต่อไปจะถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการไม่ยกเลิกใช้

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไท) กล่าวว่า ในการประชุมที่รมช. มนัญญาเป็นประธานที่กระทรวงเกษตรฯ บ่ายวันนี้ (7 ตุลาคม) มีนางสาวบุญยืน ศิริธรรม เป็นตัวแทนผู้บริโภค ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เป็นผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งจะหารือกันอย่างรอบด้านเพื่อสรุปความเห็นเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย

ทั้งนี้ ข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ ที่กรมวิชาการเกษตรต้องเสนอไปยังคณะกรรมการวัตุอันตรายควรรอบคอบและรัดกุมมากที่สุด ในการเสนอวิธีการหรือสารทดแทนที่ไม่เป็นอันตราย รวมถึงมีมาตรการรองรับต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นเช่น การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรกำจัดวัชพืชแทนพาราควอต ซึ่งทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้นแน่นอน ต้องรอฟังว่า กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการรองรับอย่างไร ทั้งนี้หากข้อเสนอไม่ครบถ้วนจะกลายเป็นเงื่อนไขให้คณะกรรมการฯ อ้างในการไม่ยกเลิก ต้องยอมรับว่า มีเกษตรกรจำนวนมายังไม่พร้อมปรับเปลี่ยนเพราะไม่ทราบว่า ถ้าไม่ใช้สารเคมีจะมีวิธีใดทดแทน หากกระทรวงเกษตรฯ สรุปรายละเอียดให้รอบด้านจะทำให้ปัญหานี้จะจบแน่นอน

นายวิฑูรย์กล่าวเพิ่มเติม ถึงโครงสร้างคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย(ฉบับที่ 4) 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ ซึ่งตัดผู้แทนจากกรมการแพทย์และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออก โดยเพิ่มปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้ามา ทำให้ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขจากเดิมที่มี 3 คนเหลือเพียง 2 คนคือ ปลัดกระทรวงฯ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพของประชาชนน้อยลงไปอีก เมื่อต้องลงคะแนน แม้จะเสนอให้ยกเลิกก็อาจแพ้กลุ่มที่ไม่ต้องการให้ยกเลิก

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า เห็นด้วยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว. สาธารณสุขที่ระบุว่า แนวปฏิบัติและวัฒนธรรมของกรรมการวัตถุอันตรายจะลงมติตามหน่วยงานที่กำกับดูแลสารพิษเช่น ถ้ากระทรวงเกษตรไม่เห็นด้วยที่จะแบน กรรมการส่วนใหญ่ก็จะยกมือสนับสนุน ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีบุคคลากรที่เชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพโดยตรงเสนอให้แบน แต่ก็แบนสารพิษนั้นไม่ได้ อีกทั้งยังแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายคือ แม้ พ.ร.บ. จะออกแบบให้มีตัวแทนองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านต่างๆ 5 คน จากที่กฎหมายเดิมกำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน แต่กลับพบว่า มีการแต่งตั้งอดีตข้าราชการและตัวแทนของบริษัทเอกชนและสมาคมค้าสารพิษเข้าไปแทนเช่น แต่งตั้งผู้อำนวยการของสมาคมอารักขาพืชไทย (สมาคมของผู้ผลิตและจำหน่ายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส) เข้าไปเป็นตัวแทนขององค์กรสาธารณประโยชน์ด้านเกษตรยั่งยืน แต่งตั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทขายคลอร์ไพริฟอสเข้าไปเป็นตัวแทนขององค์กรสาธารณประโยชน์ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งนายวิฑูรย์เห็นด้วยว่า หากสังคมไทยจะพ้นไปจากปลักของสารพิษ นอกจากต้องแบนสารพิษร้ายแรงแล้ว จำเป็นต้องรื้อถอนโครงสร้างพิษที่ถูกฝังไว้ในกฎหมายวัตถุอันตรายฉบับใหม่ไปพร้อมๆ กันด้วย

ส่วนประเด็นสารเคมีเหลือ ทั้งที่ห้ามนำเข้าตั้งแต่ 30 มิถุนายนเพราะอาจนำเข้ามามากตั้งแต่ต้นปี ควรนำมาตรการของต่างประเทศมาใช้คือ ให้บริษัทซื้อคืนไปเลยเพราะกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกเลิกตั้งแต่ 5 เมษายน 60 ที่จะยกเลิกสาร 3 ชนิดนี้ภายใน2ปี

“เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศยกเลิกใช้ ทางบริษัทผู้ผลิตส่งไปประเทศเคนยา ซึ่งเคนยาประกาศยกเลิกใช้เช่นกัน แล้วให้บริษัทซื้อคืนจากร้านค้าและประชาชนทั้งหมด ตอนนี้มีคนส่งข้อมูลมาให้ว่าร้านค้าท้องถิ่นในไทย จัดโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 ดูเหมือนว่า บริษัทที่นำเข้าต้องการกระจายไปให้ร้านค้าเพื่อเร่งขายสารที่อยู่ในสต็อกให้หมดภายในสิ้นปี ดังนั้นสารเคมีจะถูกกระจายไปอยู่ในมือเกษตรกร ในการประชุมกับรมช. มนัญญาวันนี้ ตัวแทนผู้บริโภคจะเสนอเรื่องนี้ สารที่เหลือในสต็อก บริษัทต้องรับซื้อคืนทั้งหมด อย่าโยนภาระให้ประชาชน” นายวิฑูรย์กล่าว

 

 

 

You May Have Missed!

1 Minute
โรงพยาบาล
สำนักอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
1 Minute
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดพิธีทำบุญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู แจกใหญ่ จัดหนัก กับ แคมเปญ “รวยคูณสอง แจกทอง แจกรถ” ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ชั้นนำ มอบโชคใหญ่ให้ลูกค้าทรู ดีแทค รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพียงสมัครบริการเสริม ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลทันที ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 68
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน