ตัวแรงส์ แห่ตบเท้าเข้าประชุม เวที 4ฝ่าย เจ๊แหม่ม มนัญญา นั่งหัวโต๊ะ เคาะข้อมูลแบน3สารพิษ
จันทร์นี้ ผอ.ไบโอไท เร่งหาทางออก สารเคมีเหลืออื้อ อย่าโยนภาระประชาชน จี้บริษัทซื้อคืนทั้งหมด
เมื่อวันที่ 6 ต.ค.62 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไท) เปิดเผยว่า วันจันทร์ ที่ 7 ต.ค. นี้น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนผู้บริโภค นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าร่วมประชุมกับน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ประธานคณะทำงาน4ฝ่าย ที่มีฝ่ายรัฐ เอกชน ผู้นำเข้า เกษตรกร ผู้บริโภค ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้มาหารืออย่างรอบด้านถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมี3ชนิด เสนอความเห็นไปเข้าคณะกรรมการวัตถุอันตราย ส่วนแบนหรือไม่แบนอยู่ที่มติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะพิจารณาตามแนวทางของกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร ที่จะทำมาตรการมาครบถ้วนหรือไม่ รองรับปัญหา และทางออก วิธีทำเกษตรทางเลือกให้เกษตรกรใช้อะไร มาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยน การจัดการสารเคมีที่เหลืออยู่ทำอย่างไร
“หน่วยงานที่ต้องกำหนดมาตรการ มาอย่างชัดเจน คือกรมวิชาการเกษตร เสนอ รมช.เกษตรฯซึ่งหากทำได้เร็วจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด เพราะนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ก็ยืนยันว่าพร้อมที่จะยกเลิก และนำเข้าสู่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายทันทีหากกระทรวงเกษตรฯเร่งสรุปส่งมาได้”
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯไปยัง คณะกรรมการฯ ควรรอบคอบ รัดกุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้เสนอเลือกใช้วิธีการทดแทน มาตรการรองรับต้นทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งในกรณีหาสารทดแทนที่ไม่เป็นอันตรายและ ไม่แพง ที่คณะกรรมการฯเคยมีมติขมวดไว้ต่อท้ายอีกด้วย ดังนั้นข้อเสนอต้องรัดกุม ครบถ้วน ทำเป็นชุดข้อเสนอทางเลือก มาตรการในกรณีต้นทุนเพิ่มขึ้นจะมีวิธีสนับสนุนเกษตรกรอย่างไร ตนยังไม่ทราบว่ากระทรวงเกษตรฯมีการหารือไว้หรือยัง
“ถ้าไม่ครบถ้วน จะกลายเป็นเงื่อนไข ให้คณะกรรมการฯอ้างไม่แบน ในความเห็นผม ต้องทำมาตรการรองรับ เพราะต้องยอมรับว่ามีเกษตรกร ไม่พร้อมปรับเปลี่ยน อาจรับข้อมูลไม่เพียงพอ มีข้อจำกัด เคยใช้ก็อยากใช้อยู่ ถ้าเราไม่เสนอทางเลือกชัดเจนให้ กลายเป็นประเด็นความขัดแย้ง ทั้งที่จัดการได้ทุกประเทศที่แบนและล่าสุดแบน58ประเทศแล้ว อยู่ที่กระทรวงเกษตรฯมีความเป็นเอกภาพหรือไม่ และการทำข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ในการเสนอ2เรื่อง คือในเชิงการปฏิบัติ ที่ต้องรับผิดชอบเกษตรกร หาวิธีทดแทน ทำอย่างไร วิธีการใช้สารทางเลือก ทดแทนอื่นๆใช้พืชคุมดิน เช่น ถั่วซีรูเรียม ซึ่งสถาบันวิจัยพืชสวน ของกรมวิชาการเกษตร ทำวิจัยแล้ว สามารถมาใช้ปลูกในสวนปาล์ม สวนยางพารา อายุต้น1-5ปี ได้สามารถสร้างปุ๋ยธรรมชาติ เพิ่มมูลค่าถึงปีละ3หมื่นล้านบาท ถ้าชาวบ้านจะปรับเปลี่ยน เตรียมเมล็ดพันธุ์พร้อมหรือยัง ในส่วนเกษตรกร ร้องเรียนต้นทุนสูงขึ้น60% แต่มีพืช 4-5พืชที่ไม่มีปัญหาเรื่องต้นทุน ในบางพืช ต้นทุนเพิ่มขึ้น กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการสนับสนุนอย่างไร ตอนนี้พืชไหน ใช้อยู่เท่าไหร่ จากที่มีเกษตรกร4แสนคน ที่ไปลงทะเบียนจะใช้สารนี้ พืชอะไรบ้าง ชดเชยอย่างไร ยังไม่เห็นตัวเลขจากกระทรวงเกษตรฯเลย สำหรับสวนยาง ปาล์ม ยังใช้เครื่องตัดหญ้าได้ ในช่วงแรกอายุ 1-5ปี พอโตขึ้นร่มเงา อยู่ไป25ปี ไม่มีหญ้า กรณีมันสำปะหลัง ต้นทุนแพงขึ้น30% รัฐช่วยเรื่องปรับเปลี่ยน ถ้ากระทรวงเกษตรฯคิดจบหมดไม่มีปัญหา ชาวบ้านไม่มีใครอยากตาย จะไม่เป็นประเด็นที่บริษัทเอาชาวบ้านเป็นตัวประกัน” นายวิฑูรย์ กล่าว
ส่วนประเด็นสารเคมีเหลือ ทั้งที่ห้ามนำเข้าตั้งแต่30มิ.ย. เพราะก่อนหน้านี้ อาจนำเข้ามามากตั้งแต่ต้นปีคุมไปถึงเดือนธ.ค. รู้ว่าแนวโน้มแบนแน่ ต้นปีนำเข้ามาก่อนถ้าอย่างนั้นมหาศาล 3ตัว ไม่ต่ำกว่า100ล้านกก.ต่อปี ควรนำมาตรการของต่างประเทศ มาใช้ ให้บริษัทซื้อคืนไปเลยเพราะรู้ก่อนหน้ามาสองปีกว่าว่าจะแบน กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศตั้งแต่5เม.ย.60 แบน3สารนี้ ภายใน2ปี
“ที่สหรัฐอเมริกา ประกาศแบนสาร ทางบริษัทส่งไปประเทศเคนยา ก็ประกาศแบน ให้บริษัทซื้อคืนจากร้านค้าจากประชาชนทั้งหมด ตอนนี้มีคนส่งข้อมูลมาให้ผมว่า ร้านค้าท้องถิ่น จัดโปรโมชั่น ซื้อ1แถม1 เหมือนกับเอกชนกระจายของไปให้ร้านค้า เพื่อเร่งเคลียร์เอาออกจากสต็อก ภายในสิ้นปี ดังนั้นสารเคมีจะถูกกระจายไปอยู่ในมือชาวบ้าน ถ้าในประเทศเคนย่า บริษัทต้องซื้อกลับจากชาวบ้านหมด วันจันทร์นี้ น.ส.มนัญญา น่าจะคุยเรื่องนี้กัน อย่าโยนภาระให้ประชาชน มีเท่าไหร่ บริษัทต้องซื้อคืน” นายวิฑูรย์ กล่าว