อธิบดีกรมชลประทานระบุ น้ำที่ท่วมอำเภอวารินชำราบ ลดลงเท่ากับระดับตลิ่ง เร่งสูบน้ำที่ท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำออกด่วนที่สุดป้องกันน้ำเน่าเสีย แห้งแน่พรุ้งนี้
สั่งการสำรวจความมั่นคงแข็งของอาคารชลประทานทุกพื้นที่เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ระดับน้ำแม่น้ำมูลเวลา 6:00 นาฬิกา วันนี้ (2 ตุลาคม) สูงกว่าตลิ่งฝั่งอำเภอวารินชำราบ 47 เซนติเมตร การระบายน้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงทำได้สะดวกเนื่องจากระดับแม่น้ำโขงต่ำกว่าแม่น้ำมูลมากกว่า 4 เมตรทำให้ระดับน้ำลดลงวันละ 35 – 40 เซนติเมตร ดังนั้นมั่นใจว่า ภายในบ่ายพรุ่งนี้ (3 ตุลาคม) น้ำแม่น้ำมูลจะลดลงเท่ากับระดับตลิ่งแน่นอน ขณะนี้สั่งการให้นำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งในพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำขังเพื่อสูบให้แห้งโดยเร็ว ป้องกันภาวะน้ำเน่าเสียจากที่ท่วมขังมานาน โดยฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานีนั้นได้เดินเครื่องทุกจุดแล้ว ส่วนฝั่งอำเภอวารินชำราบ เจ้าหน้าที่กำลังสำรวจว่า จะดำเนินการในพื้นที่ใดได้ก่อน ซึ่งจะใช้กระสอบทรายปิดล้อมพื้นที่ที่น้ำขัง แล้วสูบกลับออกสู่แม่น้ำมูล
นอกจากนี้ยังกำชับให้เร่งสำรวจอาคารชลประทานทุกแห่งในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยได้แก่ พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ คลองหลัก คลองย่อยว่า ถูกน้ำกัดเซาะเสียหายหรือไม่ หากชำรุดเสียหายให้เร่งซ่อมแซมด่วนที่สุดเพื่อให้สามารถใช้บริหารจัดการน้ำและเก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับไว้ใช้ในฤดูแล้ง
ทางด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางนั้น สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรที่ลุ่มต่ำบางแห่ง ซึ่งเร่งสำรวจความเสียหายและฟื้นฟู ขณะนี้ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำปลายฤดูฝน 62 โดยให้เก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางหลายแห่งเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 62/63 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่งนั้นมีเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์แห่งเดียวที่อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก โดยน้ำใช้การ 1,614 ล้าน ลบ.ม. จากความจุเก็บกัก 1,980 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุ ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ความจุเก็บกัก 2,431 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การได้ 58 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 3 ของความจุ ซึ่งถือว่า อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย และเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ความจุเก็บกัก 163 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 13 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 10 ของความจุ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยเช่นกัน ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่ง ความจุรวม 440 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การได้ 320ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80
นายศักดิ์ศิริกล่าวต่อว่า ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำช่วงปลายฤดูฝนนี้ โดยเขื่อนลำปาวเริ่มส่งน้ำเข้าระบบเพื่อหล่อเลี้ยงข้าวที่กำลังตั้งออกรวงในช่วง 2 สัปดาห์นี้เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ด้านเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนจุฬาภรณ์มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคเท่านั้น ส่วนพื้นที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอส่งน้ำเพื่อการเกษตรจะส่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเกษตรและปลูกต่อเนื่องทดแทนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สำหรับมาตรการรับสถานการณ์น้ำฤดูแล้งปี 62/63 ได้ประเมินน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้านการอุปโภค-บริโภค สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานทุกโครงการเร่งประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เพื่อให้ผู้ใช้น้ำได้หารือแนวทางบริหารจัดการน้ำร่วมกันและเน้นย้ำให้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนได้ปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้และสามารถทำให้มีน้ำใช้ในกิจกรรมที่จำเป็นได้ตลอดฤดูแล้ง รวมถึงต้นฤดูเพาะปลูกหน้าในเดือนกรกฎาคม 2563