ขบวนการสหกรณ์ร้องสันนิบาตสหกรณ์ฯ ช่วยเหลือเดือดร้อนจากกฎกระทรวงฯ
สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) โดยนายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายจากประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ให้นำคณะสหกรณ์ประกอบด้วย ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย และขบวนการสหกรณ์ เข้าพบหารือนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง โดยภาคสหกรณ์ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า กฎกระทรวงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทั้งกับการดำเนินงานของสหกรณ์และความเป็นอยู่ของสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งมีมากกว่า ๑๒ ล้านคนเศษ โดยผู้บริหารสหกรณ์ที่เข้าพบได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับสหกรณ์ จึงได้ขอให้สันนิบาตสหกรณ์ฯประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าชี้แจงและขอให้แก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว โดยได้พยายามชี้ให้เห็นว่าการทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา ภาครัฐไม่ได้รับฟังสหกรณ์ เป็นเพียงแค่ให้ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นของภาครัฐในเรื่องของกฎกระทรวง ไม่ได้มองเห็นปัญหาของภาคสหกรณ์ ออกกฎหมาย เพื่อบอนไซ โดยรัฐใช้เครื่องมือทางกฎหมาย อ้างผ่านประชาพิจารณ์ แท้จริงไม่เคยรับฟังความเดือดร้อนของสหกรณ์ หากปล่อยผ่านคาดว่าจะมี สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนได้รับกระทบอย่างหนักแน่นอน
โดยในครั้งนี้ สสท.และขบวนการสหกรณ์ ได้เข้าพบ ยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี (ผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง) โดยมีเอกสารดังนี้ (๑) กฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ๒๕๖๗ (๒) บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การนำเงินของสหกรณ์ไปฝากหรือลงทุน(๓) บทสรุปสำหรับผู้บริหาร : การรับฟังความเห็นและผลกระทบต่อสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูนี่อน เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๘ และประเด็นความเห็นอื่น ๆ ที่เป็นเหตุผลประกอบ ว่าสมควรยกเลิกกฎกระทรวงฉบับนี้ (๔) สรุปสาระสำคัญจากการระดมความเห็น : เหตุผลที่ไม่เห็นด้วย ต่อ กฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ๒๕๖๗) (๕) บทวิเคราะห์ข้อกำหนดลงทุนใหม่ : สร้างวิกฤตเงินเหลือ และสรุปกรอบการลงทุนฯ
ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ๒๕๖๗ ซึ่งมีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ สาระสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสหกรณ์ โดยเฉพาะใน ข้อ ๓ กำหนดให้สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ฝากเงินหรือลงทุนแต่ละแห่งได้ ไม่เกินร้อยละสิบของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์นั้น เว้นแต่เป็นการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐบาล ให้สามารถฝากเงินหรือลงทุนเกินร้อยละสิบของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์นั้นได้ และข้อ ๔ การฝากหรือการลงทุนดังต่อไปนี้ เมื่อนำมารวมกันแล้วต้องไม่เกินทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์นั้น รวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบแผนและวงเงินการลงทุนจากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์นั้น (๑) ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน (๒) ซื้อหุ้นของธนาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์ (๓) ซื้อหุ้นของสถาบันที่ประกอบธุรกิจอันทำให้เกิดความสะดวกหรือส่งเสริมความเจริญแก่กิจการของสหกรณ์ โดยได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (๔) ฝากหรือลงทุนอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด
สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรกลางของขบวนการสหกรณ์ไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบด้วย สหกรณ์ทุกสหกรณ์เป็นสมาชิก ได้รับการร้องขอจากสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนส่วนใหญ่ ให้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและปัญหาความเดือดร้อนของสหกรณ์ที่เกิดจากกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ๒๕๖๗ จึงได้จัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๘ ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว มีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า ขอให้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ดำเนินการช่วยเหลือสหกรณ์ที่เดือดร้อนดังนี้ ๑) สรุปประเด็นความคิดเห็นและปัญหาความเดือดร้อนของสหกรณ์ ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ๒) ประสานไปยังหน่วยงานกลางที่รับฟังและสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะกราบเรียนถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี กรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ๓) หากปัญหาความเดือดร้อนของสหกรณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข ขอให้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อดำเนินการฟ้องเพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าวให้เป็นความต้องการของขบวนการสหกรณ์ โดยมีข้อเสนอดังนี้ ๑.เงินลงทุน = (เงินรับฝาก+ทุนเรือนหุ้น+ทุนสำรอง) ของสหกรณ์ออมทรัพย์หรือชุมนุมฯ ๒.ให้ลงทุนในหุ้นสามัญไม่เกินทุนเรือนหุ้นบวกทุนสำรอง แต่ควรเปิดช่องให้ลงทุนในหุ้นกู้หรือพันธบัตรได้