เอ็นไอเอจับมือพันธมิตรชั้ นนำเดินหน้าปั้นสเปซ-เอฟปี 5 ดันไทยแจ้งเกิดฟู้ดเทค
สตาร์ทอัพ เร่งโต 18 สตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคและอุ ตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต
หนุนไทยสู่ศูนย์กลางนวั ตกรรมเทคโนโลยีอาหาร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล และพันธมิตรองค์กรชั้นนำ ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ล็อตเต ไฟน์ เคมิคอล จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ดีลอยท์ ประเทศไทย และเครือข่ายบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมอาหารอีกมากมาย เสริมโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารและฟู้ดเทคสตาร์ทอัพไทยผ่าน โครงการ SPACE-F ปี 5 พร้อมชี้ตลอดระยะเวลา 5 ปี ช่วยปั้นสตาร์ทอัพได้กว่า 80 ราย จาก 18 ประเทศ และสร้างมูลค่าด้านการลงทุนได้กว่า 2,000 ล้านบาท โดยปีนี้มีสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ SPACE-F ทั้งในส่วนโครงการบ่มเพาะ (Incubator Program) และโครงการเร่งการเติบโตทางธุรกิจ (Accelerator Program) เพิ่มอีก 18 ราย ซึ่งมุ่งเป้าด้านความยั่งยืนและอาหารแห่งอนาคต
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า NIA ภายใต้บทบาทผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรม ด้วยแนวคิด Groom – Grant – Growth – Global ทั้งมิติการสนับสนุนเงินทุน การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรม การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง พร้อมกันนี้ยังมุ่งผลักดันนวัตกรรมเพื่อสร้างการเติบโตและเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยที่ผ่านมาได้ผลักดันหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศคือ “นวัตกรรมอาหาร” ผ่าน SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับสากล พร้อมช่วยผลักดันกลุ่มฟู้ดเทคสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาด และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีความได้เปรียบในด้านการแข่งขันกับทุกบริบทที่เปลี่ยนแปลง”
“SPACE-F เป็นแพลตฟอร์มสำหรับบ่มเพาะและเร่งการเติบโตสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารที่ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างโอกาสเข้าถึงเครือข่าย แหล่งเงินทุน และผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารให้สามารถพัฒนาแผนธุรกิจและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาด และรองรับกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตที่ต้องเผชิญได้อย่างมั่นคง พร้อมทั้งสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดและนำนวัตกรรมมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งจากการดำเนินงานโครงการ SPACE-F ตลอด 5 ปี สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศถึง 2,000 ล้านบาท ช่วยส่งเสริมให้สตาร์ทอัพกว่า 80 ราย จากกว่า 18 ประเทศ สามารถพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายในปัจจุบัน เพื่อตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีอาหารของประเทศไทยในเวทีโลก อีกทั้ง SPACE-F ยังสอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมไทยให้เป็น “ครัวของโลก” ซึ่งไทยมีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมอาหารที่เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การลงทุนอย่างต่อเนื่องในนวัตกรรมด้านอาหาร และความมุ่งมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร โดยในปี 2566 ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับที่ 12 ของโลก มีมูลค่าการส่งออก 1,255,622.69 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 15 ของโลกในปี 2565 โดยอุตสาหกรรมอาหารไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้ด้วยจุดแข็งหลายประการ เช่น การมีผลิตผลทางการเกษตรที่หลากหลายสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตและแปรรูปอาหารประเภทต่างๆ ได้ตลอดทั้งปี ความสร้างสรรค์ ความพร้อมด้านทักษะนวัตกรรม และทำเลที่ตั้งยังเหมาะสำหรับกับการขนส่ง การกระจายสินค้า รวมถึงการลงทุน” ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติม
นายธวัช สุธาสินีนนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม (Global Innovation Center หรือ GIC) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนมองเห็นอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารที่จะเติบโตด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยมุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนควบคู่ไปกับการดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล เราเชื่อว่าอนาคตของอาหารขึ้นอยู่กับแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืน เนื่องจากยังมีความต้องการพัฒนาแหล่งโปรตีนใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง การลดขยะอาหาร และการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ วิสัยทัศน์นี้เป็นสิ่งที่โครงการ SPACE-F ร่วมกันสนับสนุน เพื่อช่วยดึงดูดพันธมิตรระดับโลกให้เข้าร่วมโครงการของเรา และสตาร์ทอัพในโครงการ SPACE-F กำลังใช้เทคโนโลยีและความสามารถในการยกระดับความยั่งยืนของระบบอาหารพร้อมสร้างความก้าวหน้า ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าสตาร์ทอัพที่ร่วมเสนอผลงานในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5 จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยั่งยืนและร่วมมือกันในการพัฒนาในอนาคต
รศ. ดร.ยศชนัน วงศสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและรักษาการผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับเป้าหมายของ “Thailand Future Food Initiative” ที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต เพื่อส่งเสริมการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลมีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนผู้ประกอบการทางด้านฟู้ดเทคด้วยทรัพยากร เครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงคำแนะนำให้กับสตาร์ทอัพ โดย MUI Robotics Co., Ltd. หนึ่งในสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะกับ SPACE-F ในปีนี้ มีผู้บริหารสูงสุดที่บริหารสายงานเทคโนโลโลยี หรือ CTO เป็นบุคลากรจากมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงรุ่นที่ผ่านมาอย่าง Nutricious Co., Ltd. และ Advanced GreenFarm Co., Ltd. ก็มีบุคลากรจากมหาวิทยาลัยมหิดลเช่นกัน ทางมหาวิทยาลัยมหิดลและพันธมิตรมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคอย่างต่อเนื่อง และยินดีต้อนรับสตาร์ทอัพที่มีความสนใจในการพัฒนาโซลูชั่นด้านอาหารให้มาเข้าร่วมโครงการในอนาคต เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมที่ยั่งยืน และผลักดันให้โครงการ SPACE-F ก้าวสู่การเป็นโครงการบ่มเพาะด้านอาหารระดับโลกต่อไป
นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่เนสท์เล่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SPACE-F นับเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจและเปิดมุมมองใหม่ในการได้สัมผัสวิธีการทำงานที่คล่องตัวของเหล่าสตาร์ทอัพ ซึ่งช่วยให้เกิดการเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็วสำหรับบริษัทขนาดใหญ่อย่างเนสท์เล่ ในขณะเดียวกันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสสนับสนุน ให้คำปรึกษา แบ่งปันแหล่งข้อมูล รวมถึงพาผู้ประกอบการไปเยี่ยมชมโรงงานของเนสท์เล่ที่นวนคร และศูนย์วิจัยและพัฒนาที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพเข้าใกล้ความฝันมากยิ่งขึ้น การสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล ไทยยูเนี่ยน รวมถึงพันธมิตรองค์กรชั้นนำอย่างไทยเบฟ ล็อตเต้ และดีลอยท์ ได้ช่วยเสริมสร้างเครือข่ายอันแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศนี้ เราเชื่อมั่นในพลังของนวัตกรรมและวิสัยทัศน์ของ SPACE-F ที่จะช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพเติบโต ซึ่งเนสท์เล่รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นความก้าวหน้าและความสำเร็จของพวกเขา และยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเดินทางของพวกเขาต่อไป
สำหรับอีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญอย่าง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ”) ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินงาน Proof of Concept (POC) เพื่อให้ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพสามารถทดลองและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในสภาพแวดล้อมจริง ช่วยปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มความน่าเชื่อถือ และสร้างโอกาสให้แนวคิดเหล่านั้นต่อยอดสู่การพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ไทยเบฟยังมุ่งเน้นการส่งเสริมความยั่งยืนในระบบนิเวศธุรกิจผ่านหลากหลายโครงการ เช่น โครงการด้านพลังงานสะอาด เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (TSCN) และการยกระดับความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานให้มีความรับผิดชอบ ไทยเบฟนับเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตในระบบนิเวศธุรกิจที่สมดุล ครอบคลุมทั้งมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีของประเทศไทยในเวทีโลก
สตาร์ทอัพ 18 ทีมในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5 ประกอบไปด้วยฟู้ดเทคสตาร์ทอัพที่มุ่งพัฒนาโซลูชันและผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน โดยโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ (Incubator Program) 9 ราย ได้แก่
- Full Circle Co., Ltd:ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์ครั้งเดียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- Another Food:ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟจากเซลล์พืชด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์พืช
- Cantrak:ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการติดตาม ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการผลิต
- Nanozeree:ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ประกอบด้วยโปรไบโอติกและพรีไบโอติก ด้วยเทคโนโลยีการห่อหุ้มระดับนาโน (Nano Encapsulation)
- Anuvi Food Sciences:ผู้พัฒนาส่วนผสมอาหารจากจุลินทรีย์ที่ได้จากอุตสาหกรรมเอทานอล ด้วยกระบวนการหมักให้เป็นไมโครโปรตีน
- Algrow Biosciences Pte. Ltd.:ผู้พัฒนาส่วนผสมโปรตีนสูงจากสาหร่าย ด้วยนวัตกรรมการสกัดที่สะอาดและมี
คุณค่าสูง - Flavour:ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ด้วยเทคโนโลยีการหมักเพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นรสชาติ และใช้ผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมเกษตร
- Beijing BangyaBangya Technology:ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากถั่วงอก ที่สามารถป้องกันอาการเมาค้างได้
- KronoLife Co., Ltd.:ผู้พัฒนาอาหารเสริมและเครื่องสำอางต่อต้านริ้วรอย โดยมุ่งเป้ากำจัดเซลล์ชราเพื่อสุขภาพผิว
ที่ดีขึ้น
ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ 9 รายที่เข้าร่วมโครงการเร่งการเติบโตทางธุรกิจ (Accelerator Program) ได้แก่
- SEATOBAG PTE LTD:ผู้พัฒนาจุลินทรีย์เป็นสารอาหารสำคัญในอาหารสัตว์น้ำ เพื่อช่วยในการย่อยและการดูดซึม
ของสัตว์ - N&E Innovations:ผู้พัฒนาสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และแผ่นฟิล์มเคลือบอาหารจากเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์
- Biodefense led by BioShield:ผู้พัฒนาสารเคลือบอาหารที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานขึ้น ลดการสูญเสียของผลผลิตทางการเกษตร ใช้ได้กับทั้งผักผลไม้และเนื้อสัตว์
- UniFAHS:ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเฟจสำหรับควบคุมแบคทีเรียก่อโรคในกระบวนการผลิตปศุสัตว์และประมงด้วยกลไกทางธรรมชาติ ช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ
- Prefer Pte Ltd:ผู้พัฒนาสารทดแทนที่มีกลิ่นและรสชาติคล้ายกาแฟด้วยเทคโนโลยีการหมักขนมปัง ถั่วเหลือง และข้าวบาร์เลย์
- Fattastic Technologies Pte Ltd:ผู้พัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์มสำหรับผลิตไขมันจากพืช ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนคุณสมบัติเหมาะสมไปตามการใช้งานของผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบในอุตสาหกรรมอาหาร
- MUI Robotics Co., Ltd.:ผู้พัฒนาเทคโนโลยีสัมผัสประดิษฐ์ (Artificial Sense)ด้านกลิ่นและรสชาติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
- Aquivio:ผู้พัฒนาเครื่องจ่ายน้ำอัตโนมัติและบริการน้ำดื่มฟังก์ชันที่ให้ผู้บริโภคสามารถเลือกและปรับแต่งคุณสมบัติได้ตามความชอบและความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคน
- Ingrediome Inc.:ผู้พัฒนากระบวนการผลิตโปรตีนสัตว์ด้วยสาหร่าย ทำให้ได้โปรตีนที่มีความใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง กระบวนการผลิตมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการ SPACE-F ปี 6 จะเปิดรับสมัครในเดือนมกราคม 2568 ขอเชิญชวนฟู้ดเทคสตาร์ทอัพทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกจะได้โอกาสเข้าถึงเครือข่าย ทรัพยากรที่สำคัญ แหล่งเงินทุน และผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพฟู้ดเทคสตาร์ทอัพและเสริมสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีอาหารทั่วโลก