ทีเส็บวางทิศทางยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ตั้งเป้าปี 68 สร้างรายได้ 2 แสนล้านบาท

ทีเส็บวางทิศทางยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ไทย

ตั้งเป้าปี 68 สร้างรายได้ 2 แสนล้านบาท

ทีเส็บ ชูแนวทางยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ปี 2568 เร่งพัฒนาแบรนด์ประเทศไทย ใช้นวัตกรรมทำงาน เพิ่มการสร้างเครือข่าย เน้นความยั่งยืน มุ่งดึงงานขนาดใหญ่ พร้อมสร้างระบบนิเวศน์ไมซ์ไทย ไปสู่เป้าหมายนักเดินทางไมซ์ 34 ล้านคน ทำรายได้ 2 แสนล้านบาท

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า สถานการณ์โดยรวมขณะนี้ถือได้ว่าเป็นขาขึ้นของการเดินทางระหว่างประเทศซึ่งกำลังฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 ซึ่งผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยปี 2567 พบว่ามีนักเดินทางไมซ์นานาชาติเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนที่สูงขึ้นร้อยละ 41.89 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2566 อันเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของเที่ยวบิน แนวโน้มการฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก และการดำเนินมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

“ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมไมซ์ และมีนโยบายสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการยกเว้นวีซ่าให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ โดยเฉพาะวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนแบบถาวร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 รวมทั้งมาตรการ Visa on Arrival ที่ให้สิทธิกับนักท่องเที่ยวหลายประเทศมากขึ้น อาทิ อินเดีย และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รวมถึงแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน (Quick Win) รวมทั้งมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูกาล และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านงานเทศกาลและงานประจำปีในแต่ละจังหวัด นับเป็นโอกาสของ ทีเส็บ ที่จะแสดงบทบาทในการผลักดันให้ใช้ไมซ์เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ”

สำหรับผลการดำเนินงานอุตสาหกรรมไมซ์ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) พบว่า มีจำนวนนักเดินทางไมซ์ทั้งสิ้น 25,350,288 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.47 จากป 2566 โดยเป็นนักเดินทางไมซ์ภายในประเทศ 24,189,719 คน และนักเดินทางไมซ์นานาชาติ 1,160,569 คน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศรวมมูลค่า 148,341 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.27 ของรายไดในป 2566 โดยแบ่งเป็นรายได้จากนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 78,747 ล้านบาท และรายได้จากนักเดินทางไมซ์นานาชาติ 69,594 ล้านบาท

สำหรับปี 2568 นี้ ทีเส็บยังเดินหน้าทำการตลาดไมซ์เชิงรุกตามนโยบายรัฐบาล โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ได้แก่ การพัฒนาตำแหน่งของแบรนด์ประเทศไทย ในฐานะการเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-Added MICE Destination) โดยสอดแทรก Soft Power ในการยกระดับประสบการณ์ให้กลุ่มนักเดินทางไมซ์ มุ่งใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ เพิ่มการสร้างภาคีเครือข่ายกับผู้ประกอบการเพื่อสร้างเสถียรภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลักดันประเทศไทยสู่จุดหมายปลายทางของการจัดงานอย่างยั่งยืน และมุ่งดึงงานขนาดใหญ่ที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวกที่วัดผลได้จริง รวมทั้งพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) อุตสาหกรรมไมซ์ที่ช่วยผลักดันทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันแบบไร้รอยต่อ

ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวต่อไปว่า ปี 2568 ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติขนาดใหญ่  อาทิ ViV Asia 2025 ในวันที่ 12 – 14 มีนาคม 2568 เป็นงานแสดงสินค้าด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และสัมมนาสำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์น้ำครบวงจร สำหรับภูมิภาคเอเชีย (ผู้ร่วมงานประมาณ 45,000 คน), International Diabetes Federation (IDF) World Diabetes Congress 2025 ในวันที่ 7 – 10 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่การประชุมนี้จัดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน (10,000 คน), Asia Pacific Life Insurance Congress (APLIC 2025) ในวันที่ 27 – 29 พฤษภาคม 2568 การสัมมนาสุดยิ่งใหญ่ของตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (10,000 คน), THAIFEX-Anuga Asia 2025 ในวันที่ 27 – 31 พฤษภาคม 2568 งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำของเอเชีย (85,000 คน), Thailand Coffee Fest 2025 ในเดือนกรกฎาคม 2568 งานเทศกาลที่สนับสนุนวงการกาแฟไทย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ (100,000 คน), Bangkok International Digital Content Festival 2025 ในเดือนสิงหาคม 2568 งานเทศกาลด้านดิจิทัลคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (10,000 คน), IEEE PES GTD Grand International Conference and Exposition Asia Bangkok 2025 ในวันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน 2568 เป็นงานประชุมวิชาการเพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้ประกอบการด้านไฟฟ้าและพลังงานชั้นนำจากทั่วโลก (10,000 คน)

การได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพงานระดับโลกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเจ้าภาพ และสนับสนุนการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยอีกด้วย โดยกำหนดเป้าหมายว่า สิ้นปีงบประมาณ 2568 ประเทศไทยจะมีนักเดินทางไมซ์ รวมทั้งสิ้น 34 ล้านคน ทำรายได้ 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 1.4 ล้านคน รายได้ 9.2 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 32.6 ล้านคน รายได้ 1.08 แสนล้านบาท