“อมตะ ยู” ผนึกกำลัง “อีสท์ วอเตอร์” ลุยศึกษาแผนจัดการน้ำครบวงจร เสริมความแข็งแกร่งดันพื้นที่ อีอีซี เป็นเขตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

“อมตะ ยู” ผนึกกำลัง “อีสท์ วอเตอร์” ลุยศึกษาแผนจัดการน้ำครบวงจร เสริมความแข็งแกร่งดันพื้นที่ อีอีซี เป็นเขตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

 


บริษัท อมตะ ยู จำกัด และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อศึกษาและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยมุ่งหวังพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมความมั่นคงและสร้างความยั่งยืนในการบริหารทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ ยู จำกัด หรือ อมตะ ยู กล่าวว่า อมตะ ยู เป็นบริษัทของกลุ่มอมตะ ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดหาและให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงานที่มั่นคง ยั่งยืน ครบวงจร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มอมตะทั้งในและต่างประเทศ อมตะ ยู มุ่งมั่นให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงานที่มีคุณภาพสูงและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าและส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรน้ำดิบเพื่อรองรับความต้องการน้ำในระยะยาวของภาคอุตสาหกรรมภายใต้ขอบเขตความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงระยะเวลา 12 เดือน โดยจะร่วมกันศึกษาศักยภาพของแหล่งน้ำดิบของอมตะ ยูและการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อน้ำของอีสท์ วอเตอร์ เพื่อสร้างระบบส่งน้ำที่มีเสถียรภาพ เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ รองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

“อมตะ ยูมีความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพในด้านการบริหารจัดการน้ำดิบในช่วงวิกฤตน้ำแล้ง รวมถึงในสถานการณ์ปกติ ภายในนิคมเองมีแหล่งน้ำดิบเหลือใช้ในพื้นที่ของนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ ผ่านโครงข่ายท่อของอีสท์ วอเตอร์ เพื่อสนับสนุนการผลิตในโรงงานตลอดทั้งปี และในช่วงการเติบโตของพื้นที่ อีอีซี จะมีการจัดส่งน้ำดิบเพิ่มเติมในปริมาณที่กำหนด ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาครัฐในการส่งน้ำจากในพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออก” นายชวลิต กล่าว

ดร.เพ็ชร ชินบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า การร่วมศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี เน้นการศึกษาศักยภาพแหล่งน้ำดิบระหว่างอีสท์ วอเตอร์ และ อมตะ ยู โดยนำน้ำดิบดังกล่าวมาบริหารจัดการส่งโดยโครงข่ายท่อของ อีสท์ วอเตอร์ เพื่อเสริมความมั่นคงเสถียรภาพด้านแหล่งน้ำและสร้างความเชื่อมั่นตลอดจนตอบสนองความต้องการของผู้ใช้น้ำระยะยาวในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

อีสท์ วอเตอร์ พร้อมดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนในทั่วประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่ผู้ใช้น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซีเป็นหลัก โดยพัฒนาท่อส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

1. โครงการท่อส่งน้ำดิบมาบตาพุด-สัตหีบ
2. โครงการท่อส่งน้ำดิบ หนองปลาไหล -หนองค้อ-แหลมฉบัง เพื่อที่จะตอบสนองการรับส่งน้ำในเขตนิคมอุตสาหกรรม
3. โครงการก่อสร้างระบบท่อส่งสายคลองหลวง-ชลบุรี เพื่อที่จะสามารถรับส่งน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี

เพื่อให้โครงข่ายท่อส่งน้ำ (Water Grid) ของอีสท์ วอเตอร์ มีความสมบูรณ์มั่นคง และแข็งแกร่งในภาคตะวันออก รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น สร้างการเติบโต และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำให้แก่พื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน ความร่วมมือของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำครบวงจรให้เต็มประสิทธิภาพในพื้นที่อีอีซี พร้อมตอบสนองนโยบายของภาครัฐ และแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ตลอดเวลาที่ผ่านมาการดำเนินงานของอีสท์ วอเตอร์ ได้สร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ ผู้นำในการสร้างความมั่นคงของการจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำครบวงจรของประเทศด้วยสมาร์ทเทคโนโลยี สร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการบริหารจัดการที่โปร่งใสมีธรรมาภิบาลเพื่อเป็นรากฐานสู่ความยั่งยืน

ความร่วมมือในครั้งนี้ยังรวมถึงการศึกษาแผนบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ทั้งน้ำดิบ น้ำอุตสาหกรรม น้ำเสีย และการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนารูปแบบธุรกิจและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งกักเก็บน้ำและโครงข่ายท่อน้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี เป็นไปอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพสูงสุด และพัฒนาการบริหารทรัพยากรน้ำภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีความมั่นคงและต่อเนื่อง