กรมชลประทาน เดินหน้าปรับปรุงโครงการส่งน้ำฯ สามชุก มั่นใจแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมให้ประชาชนสุพรรณบุรี

 

กรมชลประทาน เดินหน้าปรับปรุงโครงการส่งน้ำฯ สามชุก มั่นใจแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมให้ประชาชนสุพรรณบุรี

  • กรมชลประทาน เผยถึงผลการศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก หากแล้วเสร็จตามแผนคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 แสนไร่ พื้นที่น้ำท่วมลดลงจาก 9,580 ไร่ เหลือเพียง 314 ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 88,733 บาท/ปี ตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

วันที่ 16 ก.ย.67 นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี , นายบุญฤทธิ์ จำปาเงิน ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก กรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำชลประทาน ลดภัยแล้ง และน้ำท่วม พร้อมร่วมการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุกในช่วงบ่าย โดยนายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นประธานเปิดการประชุม ณ ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรสามชุก , นายบุญฤทธิ์ จำปาเงิน ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก กล่าวรายงาน และมีผู้เข้าร่วมรับฟังการประชุมครั้งนี้มาจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สภาเกษตรกร กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ กำนัน ผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการจังหวัดอ่างทองและจังหวัดสุพรรณบุรี

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก ก่อสร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2507 มีอายุการใช้งานกว่า 50 ปี ทำให้ระบบชลประทานมีประสิทธิภาพการใช้งานลดลง แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ประสิทธิภาพดังเดิมทั้งโครงการ โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก มีพื้นที่ชลประทาน 320,569 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอศรีประจันต์ อำเภอสามชุก อำเภอดอนเจดีย์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และ อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง กรมชลประทานได้วางแผนปรับปรุง โครงการให้มีความเหมาะสมซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำ บรรเทาปัญหาขาดเเคลนน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

ด้านนายบุญฤทธิ์ จำปาเงิน ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก เปิดเผยถึงผลการศึกษาโครงการศึกษา ความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรีว่า หลังจากกรมชลประทานมอบหมายให้บริษัท วายพี คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท สยาม-เทค กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอสพีที คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท ซีพีเอส ซัลเซล จำกัด ดำเนินการศึกษาโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2566 ได้เปิดเวทีชี้แจงผลการศึกษา พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่หอประชุมสหกรณ์การเกษตรสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วเสร็จนั้น ได้ข้อสรุปแผนงานปรับปรุงโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วย แผนการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำและระบบ คลองระบายน้ำ โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ ทั้ง 3 สาย ปรับปรุงและซ่อมแซมคลองส่งน้ำ 171.17 กม., สะพาน 66 แห่ง, ถนนคันคลอง 136.47 กม., อาคารประกอบคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ 645 แห่ง ในจำนวนนี้ได้ทำการติดตั้งระบบ loT (Internet of Things) คลองส่งน้ำ 22 แห่ง และคลองระบายน้ำ 10 แห่ง สำหรับใช้ติดตามควบคุมการส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพ แผนการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำและบรรเทาอุทกภัย โดยการก่อสร้างคันกั้นน้ำแม่น้ำท่าจีน รวมความยาว 13.45 กม. ปรับปรุงคันคลองระบายใหญ่สามชุก 1และ สุพรรณ 3 รวมความยาว 14.43 กม ขุดคลอกท้องคลองระบายใหญ่และคลองซอยที่สำคัญ ความยาว 207.25 กม. และแผนการปรับปรุง แก้มลิงในพื้นที่ จำนวน 9 แห่ง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง นอกจากนั้น ยังมีแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ อาทิเช่น ส่งเสริมการปลูกข้าวนาปรับเปียกสลับแห้ง ระบบน้ำหยดสำหรับการปลูกอ้อย ระบบสปริงเกอร์สำหรับไม้ผล เป็นต้น รวมทั้งแผนการพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน

“หากปรับปรุงโครงการแล้วเสร็จตามแผนงาน คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งจากปัจจุบัน 331,189 ไร่ จะเพิ่มเป็น 490,556 ไร่ หรือ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินจาก 109% เป็น 161% ผลประโยชน์ทางด้านการเกษตรเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,083.97 ล้านบาท/ปี พื้นที่น้ำท่วมลดลงจาก 9,580 ไร่ เหลือเพียง 314 ไร่ หรือ ลดลง 96.72% คิดเป็นมูลค่ากว่า 64.88 ล้านบาท ที่สำคัญครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 55,120 บาท/ปี เป็น 88,733 บาท/ปี หรือ เพิ่มขึ้น 60.98% ต่อปี ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุกกล่าว

นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ต้องใช้ในการทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาในพื้นที่อำเภอสามชุก ซึ่งจะใช้น้ำมาก โดยโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก นับว่ามีประโยชน์มาก และที่สำคัญจะแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ และหากมีน้ำหลาก สามารถเก็บกักไม่ให้ท่วม และสามารถระบายน้ำให้ดีขึ้นเร็วขึ้น ถือว่าการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุกเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในอำเภอสามชุกเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ต้องขอชื่นชมและขอขอบคุณกรมชลประทานที่ได้มีโครงการนี้รวมถึงหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ช่วยพี่น้องประชาชน พร้อมฝากถึงผู้ใช้น้ำว่า หากโครงการนี้แล้วเสร็จ ถือว่าเป็นสมบัติของทุกคนที่อยากให้ช่วยกันดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

นายคม แจ่มแจ้ง ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ JMC โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก เปิดเผยถึงโครงการสามชุกว่า ปัญหาหลักๆก็คือเราไม่มีแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง ปัญหาคือถ้าจะให้น้ำเพียงพอ จะต้องได้รับน้ำจากแม่น้ำท่าจีนเข้ามา เลยต้องมีการจัดสรรแบ่งรอบเวรกัน เพื่อให้น้ำพอใช้ได้ทุกๆคน ถ้าโครงการนี้สำเร็จ น้ำจะมีใช้เสมอต้นเสมอปลายมีให้ทำการเกษตรตลอดปี ชาวบ้านก็รู้สึกดีใจมาก

“กรมชลประทานมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลเรื่องน้ำซึ่งเมื่อก่อนยังไม่มีการประสานงาน ยังไม่มีการทำงานแบบมีส่วนร่วม แต่ปัจจุบันนโยบายเรื่องการมีส่วนร่วมสำคัญมาก ทำให้ประชาชนทุกคนรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง เกษตรกรรู้ความต้องการของตัวเอง ก็มาประสานงานแล้วสุดท้ายบูรณาการร่วมกัน ผลประโยชน์สูงสุดก็ตกอยู่ที่เกษตรกร ถ้าปรับปรุงโครงการดังกล่าวได้ดีแล้ว ทุกคนจะได้รับน้ำเสมอกันเท่าๆกัน ทำนา ทำไร หรือประมงก็จะได้ผลผลิตดี รายได้ของพี่น้องประชาชนก็จะเพิ่มขึ้น แล้วทุกคนก็จะมีความสุข” ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ JMC โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก กล่าว