สวนดุสิตต่อยอดฮับท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร ยกระดับร้านอาหารระยองสู่มาตรฐานมิชิลินสตาร์
- ม.สวนดุสิตต่อยอดฮับท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร จับมือทุกภาคส่วนในระยองจัดเวิร์คช็อปยกระดับพ่อครัวสู่การเป็นนวัตกรการบริหารมาตรฐานมิชิลิน โดยมีเชฟชื่อดังร่วมเป็นวิทยากร เพื่อผลักดันอาหารไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก
รศ. ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับ รศ.ดร. พรรณี สวนเพลง ผู้บริหารโครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนราชการ ได้แก่ อบจ.ระยอง สภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานระยอง การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระยอง ประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง สมาคมธุรกิจร้านอาหารในจังหวัด และเครือข่ายร้านอาหารในจังหวัดระยองกว่า 80 ร้าน เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติ “นวัตกรรมกระบวนการยกระดับพ่อครัวสู่การเป็นนวัตกรการบริการ (CHEF INNOVATOR) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการสู่มาตรฐานมิชิลิน (MICHELIN)”
รศ. ดร.พรรณีเปิดเผยว่า ในปี 2567 จะพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร ที่ได้มีการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ประกอบการอาหารกว่า 100 คนทั่วโลก เพื่อผนึกกำลังพัฒนา “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร” สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการผลักดันอาหารไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก โดยครั้งนี้ได้ระดมสร้างเครือข่าย จัดเก็บองค์ความรู้ และบูรณาการข้อมูลกับภาคีเครือข่ายการวิจัยทั่วโลก เพื่อยกระดับอาหารชุมชน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร
หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของศูนย์ฯ คือ การพัฒนาทักษะผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารในเชิงปฏิบัติการให้สามารถประกอบการอาหารที่มีมาตรฐานและปลอดภัย รวมถึงบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารของชุมชนได้อย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำโครงการอบรมหลักสูตร “แนวทางการพัฒนาร้านอาหารสู่การรับรองมาตรฐานมิชลิน” โดยคุณศุภกิจ ตระกิจเจริญ เจ้าของร้านนายอ้วนเย็นตาโฟ มิชิลิน 4 ปีซ้อน และการอบรมหลักสูตร “การจัดตกแต่งอาหาร” โดยเชฟประชัน วงค์อุทัย เชฟระดับ Top ของประเทศไทยร่วมกับอาจารย์เป็นเอก ทรัพย์สิน และการอบรมเรื่อง “การประยุกต์ใช้เทคนิคโมเลคูลาร์เพื่อเพิ่มมูลค่าในการนำเสนออาหาร” นำทีมโดยเชฟสุรศักดิ์ เจริญจันทร์ อดีตเชฟโรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล ร่วมกับเชฟนาวี บุญยิ้ม หัวหน้าเชฟร้าน Le Boeuf
การฝึกอบรมได้รับความสนใจจากสมาชิกเครือข่ายร้านอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ภาคตะวันออกมากกว่า 100 คน แสดงถึงศักยภาพความพร้อมของผู้ประกอบการและความร่วมมือในการสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อการส่งเสริม ยกระดับทักษะบุคลากรครัวที่มาตรฐาน ร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารให้เป็นที่รู้จักที่เกิดจากผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างแท้จริง