วช.ปักธง Soft Power กระตุ้นเศรษฐกิจไทย หนุนตั้งฮับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร
- วช.ปักธง Soft power หนุนจัดตั้งศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร มุ่งใช้ “อาหารเป็นตัวช่วยสร้างการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น” ภายใต้ 4 เสาหลัก พร้อมจัดฝึกอบรมและการทดสอบแก่ผู้สัมผัสอาหาร หวังกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก
รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง ผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร เปิดเผยว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดตัวโครงการ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร (Hub of Talent Gastronomy Tourism) ในงาน อว.แฟร์: SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. มุ่งใช้ “อาหารเป็นตัวช่วยสร้างการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น”
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการลิ้มลองอาหารเท่านั้น แต่เป็นการเดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์ทางด้านอาหารในแต่ละพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ความบันเทิงและสันทนาการ ทั้งการรับประทานอาหาร เยี่ยมชมสถานที่ทำอาหาร เทศกาลอาหาร ตลาด งานแสดงและสาธิตการทำอาหาร หรือกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับอาหาร ที่ครอบคลุมไปถึงการผลิต ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เยี่ยมชมแหล่งผลิตแบบพื้นถิ่น การเลือกสรรวัตถุดิบจากแปลงเกษตรต่าง ๆ การปรุงอาหาร ซึ่งนำเสนอผ่านรูปแบบของครัวเปิด หรือการให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรมการปรุงอาหารไปจนถึงขั้นหลังการบริโภค ซึ่งต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้าที่ระลึกเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการจัดการเศษอาหารเหลือทิ้งด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารตลอดห่วงโซ่นี้ จะเป็นโอกาสอันดีให้นักท่องเที่ยวได้เติมเต็มประสบการณ์ เก็บเกี่ยว วัฒนธรรมท้องถิ่น และสัมผัสกิจกรรมท่องเที่ยวอันหลากหลายที่เกี่ยวเนื่องมาจากอาหาร ซึ่งสอดแทรกประโยชน์ให้เกิดกับสังคมเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแต่ละภูมิภาค โดยมี 4 เสาหลักเป็นองค์ประกอบ คือ การผลิตอาหารและการเกษตร เรื่องเล่าอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของอาหารไทยอันเกิดจากรากเหง้าของความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ผสมผสานการใช้เครื่องเทศ วัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต การประยุกต์อาหารจากหลายชาติให้เข้ากับวัตถุดิบในท้องถิ่นไทย ผนวกกับการคิดค้นกรรมวิธีการปรุง ความประณีตในการจัดตกแต่งอาหาร งานแกะสลักที่เริ่มมีลักษณะเฉพาะในราชสกุลของกลุ่มชนชั้นสูงตามวังของขุนนางต่าง ๆ ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นและตอนกลาง จึงทำให้อาหารไทยในปัจจุบันมีความหลากหลาย รสชาติกลมกล่อม และมีรูปร่างหน้าตาอาหารที่ดูน่ารับประทาน ที่สามารถนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจภาคธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยว ตามนโยบายของรัฐบาลในการใช้ “วัฒนธรรมอาหารไทย” เป็นกลไกให้เกิด Soft Power บนพื้นฐานของทุนมนุษย์ที่เข้มแข็งยอมเป็นส่วนสำคัญต่อการแข่งขันกับตลาดโลก
“การจัดตั้งศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญในครั้งนี้จึงมีส่วนสำคัญในการนำองค์ความรู้เชิงวิชาการ ศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์การอาหาร นักวิชาการการท่องเที่ยวและแขนงอื่น ๆ มาช่วยเพิ่มศักยภาพและเสริมความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมศาสตร์ด้านอาหารและการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาสังคมและประเทศอย่างยั่งยืน” รศ. ดร.พรรณีระบุ
ทั้งนี้ กิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในงาน อว.แฟร์ คือ การฝึกอบรมและการทดสอบ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.จันทร์จนา ศิริพันธ์วัฒนา ผู้จัดการสวนดุสิตโฮมเบเกอรี่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มาให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสุขาภิบาลอาหาร รวมถึงสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ที่ร่วมเปิดการทดสอบแก่ผู้สัมผัสอาหาร เพื่อขึ้นทะเบียนผ่านการอบรมหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบกิจการตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร โดยผู้ผ่านเกณฑ์จะได้รับหนังสือรับรองผู้สัมผัสอาหารเป็นเครื่องยืนยันถึงความเชี่ยวชาญและมาตรฐานของบุคลากรในการให้บริการอาหาร ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการยกระดับความเชี่ยวชาญของบุคลากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารสู่มาตรฐานสากล และส่งเสริมการสร้าง Soft Power ด้านอาหารไทยที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน