สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ร่วมคืนคนดีมีคุณค่าสู่สังคม
มอบโอกาสการเรียนรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง กรมราชทัณฑ์
สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) โดย พล.อ.อ เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ร่วมส่งมอบหนังสือองค์ความรู้ จำนวน 250 เล่ม พร้อมสื่อองค์ความรู้มัลติมีเดีย ให้แก่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง กรมราชทัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการจัดมุมองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรภายในศูนย์การเรียนรู้โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” โดยมี นางสาวนุชนาฎ นิชเปี่ยม นักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษ และนางดาวเรือง เหลืองขจร นักจิตวิทยาชำนาญการ เป็นผู้แทนในการรับมอบ ณ ห้องประชุมตามรอยพ่อ ชั้น 3 อาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดปทุมธานี
พล.อ.อ เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ กล่าวว่า “สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ด้านการเกษตร พร้อมทั้ง สืบสาน รักษา ต่อยอด หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมหลากหลาย สอดคล้องกับวิถีชีวิตตนเอง รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน เครือข่าย ภาคีความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตรสู่สังคมไทย
การส่งมอบหนังสือองค์ความรู้และสื่อองค์ความรู้มัลติมีเดีย ให้แก่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและโอกาสการเรียนรู้การทำเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงแก่ผู้ต้องขังที่พร้อมจะคืนกลับสู่สังคม ให้มีพื้นฐานการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และอยู่กับครอบครัวได้โดยการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความห่วงใยและมีพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ได้เตรียมความพร้อมก่อนกลับสู่สังคม โดยฝึกอบรมองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติด้วยการน้อมนำสืบสาน และต่อยอดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ตามศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมประยุกต์เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน คือการ “ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา” เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้และแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริง เกิดการปรับเปลี่ยนพื้นฐานแนวความคิด ฝึกตนให้มีวินัย ตลอดจนสามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม รู้จักช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ ทั้งยังช่วยลดการเกิดปัญหาให้กับสังคม สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ยินดีอย่างยิ่งและพร้อมร่วมเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้สำคัญที่ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ เพื่อต่อยอดสู่การสร้างรายได้ที่มั่งคงให้กับประชาชน นำไปสู่สังคมแห่งความสุขบนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”