มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน แถลงข่าว ชี้แจงกรณีถูกพาดพิง
ใช้ชื่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอทุนทำวิจัย
วันที่ 21 มี.ค.67 ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน (มพช.) พร้อมด้วย คุณพรอรัญ สุวรรณพลาย กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน (มพช.) นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสถานที่จัดตั้งมูลนิธิฯ ที่อาคารเคเอกซ์ ถนนกรุงธนบุรี เเขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพฯ พร้อมทั้งตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงกรณีถูกพาดพิงอ้างชื่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ไปทำวิจัย พร้อมโยงว่าอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน – ขัดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่?
ประธาน มพช. กล่าวว่า มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน (มพช.) เป็นหน่วยงานอิสระที่มิได้มุ่งแสวงหากำไร ก่อตั้งโดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมช่วยเหลือนโยบายภาครัฐ และภาคเอกชนในด้านพลังงานหมุนเวียน รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมช่วยเหลือให้ภาคประชาชนตระหนัก และเข้าใจถึงประโยชน์การใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนพลังงานจากฟอสซิล รวมถึงเผยแพร่ความรู้และแนวความคิดในวิทยาการใหม่และส่งเสริมการศึกษาพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน
นอกจากนี้ ทาง มพช. ยังได้ติดต่อและร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมีการจัดอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ETC) มาแล้วถึง 5 รุ่น และยังช่วยกันพัฒนาหลักสูตรด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยสวนสุนันทา ในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก รวมถึงได้จัดทำหนังสือพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) โดยมีรายชื่อผู้จัดทำของ มพช. ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. และแผน PDP ภาคประชาชน โดยทำงานร่วมกับสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ส.อ.ท. และกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.
สำหรับการตั้งมูลนิธิฯ และสมาคม RE100 ได้กระทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยกลุ่มพลังงานหมุนเวียนเป็นแกนนำในการผลักดัน ให้จัดตั้งสถาบันการจัดการการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ของ ส.อ.ท. เมื่อ 22 ธันวาคม 2564 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบัน CCI เมื่อ 31 พฤษภาคม 2565 เพื่อการสร้างตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ส่วนบริษัท บล็อกฟินท์ จำกัด เป็นบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์ ที่ใช้บริหารจัดการระบบ GIDEON มาให้ ส.อ.ท. ได้ใช้งาน โดยไม่มีค่า License Fee โดยบล็อกฟินท์ฯ ยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์
ส่วน ส.อ.ท. เป็นเจ้าของ FTIX ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายสินค้า แต่ ส.อ.ท. ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการตลาดซื้อขาย โดยสถาบัน CCI ได้ขอให้บล็อกฟินท์ฯ พัฒนาซอฟท์แวร์หลายรายการ แต่ ส.อ.ท. ไม่มีงบประมาณ ทั้งนี้ บริษัท บล็อกฟินท์ จึงขอให้มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ช่วยเป็นแกนในการขอทุนจาก บพข. จึงระบุข้อมูลตามความเป็นจริงว่า โครงการนี้ทำเพื่อให้ ส.อ.ท. ใช้งานเป็นหลัก ไม่ใช่เป็นการแอบอ้างชื่อของ ส.อ.ท. ในการขอรับทุน นอกจากนั้นเงื่อนไขยังระบุให้ผู้ขอรับทุนต้องลงเงินทุนเองในสัดส่วน 40:60 ด้วย ซึ่งหลังจากมีเรื่องนี้ บพข. ได้ตอบเป็นหนังสือลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และวันที่ 20 มีนาคม 2567 มาที่มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ยืนยันว่า บพข.ได้มีกระบวนการพิจารณาสนับสนุนทุนวิจัยอย่างเป็นระบบโปร่งใส ทาง บพข. จึงได้ทำสัญญาให้ทุนกับมูลนิธิพลังงานสะอาดฯ โดยมิได้มีพันธะผูกพันความรับผิดชอบของ ส.อ.ท. แต่ประการใด
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ,สมาคม RE100 และกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ตั้งใจขับเคลื่อนเรื่องพลังงานหมุนเวียน เพื่อประโยชน์ของสมาชิก ส.อ.ท. และประเทศชาติโดยรวม จึงไม่ควรมีใครเอาเรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิด ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และจะมีผลให้การขับเคลื่อนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิตต้องล่าช้า เสียโอกาส เสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดการค้าโลก
ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานคณะกรรมการ มพช. ขอขอบคุณ บพข. ที่ยังเชื่อมั่น และได้สนับสนุนทุนวิจัยในการดำเนินงานโครงการฯ ให้แก่มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน และยังให้กำลังใจให้กับนักวิจัย รวมถึงกลุ่ม Start-Up ให้เกิดความมั่นใจว่าการทำงานครั้งนี้ จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโครงการวิจัยต่างๆ ที่เกิดจากการให้ข้อมูลบิดเบือนตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้