สกสว. หนุน ม.เชียงใหม่สู่แหล่งผลิตนวัตกรรมระดับพรีเมียม เปิดพอร์ต 7 นวัตกรรมเด่นภายใต้กองทุน ววน. ตอบโจทย์คุณภาพชีวิต วัฒนธรรมล้านนาและเศรษฐกิจเมืองเหนือ

สกสว. หนุน ม.เชียงใหม่สู่แหล่งผลิตนวัตกรรมระดับพรีเมียม เปิดพอร์ต 7 นวัตกรรมเด่นภายใต้กองทุน ววน.

ตอบโจทย์คุณภาพชีวิต วัฒนธรรมล้านนาและเศรษฐกิจเมืองเหนือ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดพื้นที่ระดมความคิดเห็นและหารือแนวทางการบริหารงบประมาณและการนำผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ พร้อมโชว์ 7 โครงการวิจัยเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ววน. ได้แก่ โครงการ PM2.5 โครงการกิจกรรมพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมด้านการแพทย์ในย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก โครงการพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขครบวงจร โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอิเล็กตรอนและเลเซอร์อิสระอินฟราเรด/เทร่าเฮิรตซ์ เพื่อเสริมแกร่งระบบนิเวศการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศไทย โครงการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โคมล้านนา สำหรับผู้ประกอบการในตำบลท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โครงการลำเหมืองที่หายไป… ว่าด้วยการพลิกฟื้นและจัดการทุนวัฒนธรรมที่เกิดจากสายน้ำ และโครงการพัฒนาแผนจิตภาพและข้อเสนอการพัฒนาคลองแม่ข่าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 7 โครงการเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์บริบทเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิต และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง

ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กำกับดูแลกลุ่มภารกิจพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ กล่าวว่า กรอบการดำเนินงานของกองทุน ววน. ประกอบด้วย 1. การจัดทำแผนด้าน ววน. และแผนรายสาขาที่มีเป้าหมาย 2. การจัดสรรงบประมาณจากกองทุน ววน. ระบบงบประมาณแบบ Multiyear และ Block Grant ให้หน่วยรับงบประมาณด้าน ววน. คือ หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานในระบบ ววน. ทั้งในและนอกกระทรวง อว. 3. การเสริมพลังและขับเคลื่อนระบบและบุคลากร ววน. 4. การสร้างระบบการนำผลงาน ววน. ไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ5. การประเมินผลการดำเนินงานของระบบ ววน. ของประเทศ

“รูปแบบงบประมาณของกองทุน ววน. ในปัจจุบันตามนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. งบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม (การวิจัยและนวัตกรรม และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์) ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การพัฒนาเศรษฐกิจฯ การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมฯ การวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้าฯ และการพัฒนากำลังคนและสถาบันฯ และ 2.งบประมาณโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ ความสามารถในการผลิต การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี การพัฒนาขีดความสามารถ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ”

รศ. ดร. วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “CMU Vision” มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม โดยการบูรณาการความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่หลากหลายเพื่อสร้างนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์หลัก ตามแผนพัฒนาฯ มช. ระยะที่ 13 คือ 1. สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ 2. สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ 3. สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านล้านนาสร้างสรรค์ 4. สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการจัดการศึกษา 5. สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และ 6. บริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน เชื่อมโยงไปสู่การสร้างองค์ความรู้ขั้นแนวหน้าในด้านการวิจัยให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สร้าง Startup และบริการวิชาการรับใช้สังคม

ขณะที่กรอบวิจัยมุ่งเป้า มช. 66-70 นั้นมีความสอดคล้องกับนโยบายของระบบ ววน. ที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และการยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมในการบูรณาการองค์ความรู้สำหรับการวิจัยและนวัตกรรม โดยพัฒนากลไกสนับสนุนเพื่อผลักดันให้เกิดงานวิจัยพื้นฐานที่มีผลกระทบสูง งานวิจัยขั้นแนวหน้าและงานวิจัยเชิงลึก ส่งเสริมการสร้างสรรค์และถ่ายทอดนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ชุมชนและสังคมต่อไป

ด้าน ผศ. ดร.ชินวุธ พิพัฒน์ภานุกุล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ เปิดเผยว่า การรับงบประมาณจากกองทุน ววน. ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แบ่งสัดส่วนและแนวทางงานวิจัยในปี 2568 เป็น การวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 35% การวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้าเพื่อเกษตร อาหาร และสารสกัดมูลค่าสูงสู่อุตสาหกรรม BCG 34% การวิจัยขั้นแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ 29% และงานวิจัยและนวัตกรรม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และอารยธรรมล้านนา เพื่อการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน 2% ซึ่งจากการดำเนินงาน ปัจจุบันมีโครงการวิจัยที่มีเป้าหมายส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมได้แก่

1. โครงการ PM2.5 ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน ววน. : เป็นการสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมไปใช้ด้านการวิจัยในสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เครื่องมือเก็บตัวอย่างฝุ่นตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ และห้องปฏิบัติการของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยการเก็บตัวอย่างโดย 8 stages cascade impactor เก็บตัวอย่างที่มีขนาดฝุ่น 10 – น้อยกว่า 0.4 ไมครอน flow rate 28.3 L/min ระยะเวลาในการเก็บประมาณ 48 ชั่วโมง จากนั้นชั่งน้ำหนักฝุ่นแต่ละขนาด และนำตัวอย่างที่ได้มาวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี เพื่อสนับสนุนการนําไปใช้ประโยชน์ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านนโยบาย และด้านเศรษฐกิจ ในการจัดการด้านมลพิษทางด้านอากาศที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนต่อไป

2. โครงการกิจกรรมพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมด้านการแพทย์ในย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก : เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนและช่วยเพิ่มโอกาสการเจริญเติบโตทางธุรกิจภายในประเทศไทย ผ่านการสร้างเป็นธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ อาทิ การให้คำปรึกษา การเสนอแนะเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์ผู้ใช้จริง การระดมไอเดีย หาแนวทางแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์บริการด้านการแพทย์ การส่งเสริมการนำผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และการจัดกิจกรรมแสดงผลงานและงานเสวนานวัตกรรมทางการแพทย์ เป็นต้น

3. โครงการพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉิน ด้านการแพทย์และสาธารณสุขครบวงจร : ภายใต้ Pain point 3 เรื่องสำคัญของระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย คือ 1. ความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมของประชาชนในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ 2. คุณภาพบริการที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยบริการใหญ่-กลาง-เล็ก หรือ เมือง-ชนบท ที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ 3. Big Data in HS
ที่ขาดการนำข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพของผู้ป่วยมาเชื่อมต่อกัน เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนนโยบายที่คุ้มค่า และการติดตามประเมินผลทางสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม

4. โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอิเล็กตรอนและเลเซอร์อิสระอินฟราเรด/เทร่าเฮิรตซ์ เพื่อเสริมแกร่งระบบนิเวศการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศไทย : เป็นการรวมนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์จากหลากหลายสาขาวิชามาร่วมกันทำการวิจัยแบบบูรณาการมุ่งเป้าด้านวัสดุศาสตร์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ สร้างความเป็นเลิศด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุของประเทศไทยจากงานวิจัยพื้นฐานขั้นแนวหน้าและสร้างนวัตกรรมจากฐานองค์ความรู้ ตลอดจนเพิ่มคุณภาพผลงานทางวิชาการระดับสากลในรูปแบบงานวิจัยริเริ่มใหม่ด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุที่มีผลกระทบสูงต่อการพัฒนาประเทศใน 3 ด้าน คือ การแพทย์และสาธารณสุข พลังงานแห่งอนาคต การจัดการและการใช้ประโยชน์ของเสีย รวมถึงภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสู่ภาคสังคม “นำร่องนวัตกรรมวัสดุสู่อุตสาหกรรม”

5. โครงการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โคมล้านนา สำหรับผู้ประกอบการในตำบลท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ : ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการผ่าน 2 กิจกรรม คือ Worship วัดดอนจั่น แขวนโคมตามความเชื่อผูกเรื่องราวจากข้อมูลวัฒนธรรมความเป็นมาในเรื่องของโชคลาภ การเสริมดวงชะตา พิธีกรรมต่าง ๆ และ Workshop กิจกรรมสาธิตทำโครงโคม ประกอบโคม ตัดลวดลายกระดาษ เพนส์สีโคม และตกแต่งโคมด้วยวัสดุต่าง ๆ พร้อมทำเครื่องหอมจากสมุนไพรร่ำโคมด้วยสูตรเฉพาะที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

6. โครงการลำเหมืองที่หายไป… ว่าด้วยการพลิกฟื้นและจัดการทุนวัฒนธรรมที่เกิดจากสายน้ำ : ด้วยการวิเคราะห์กลไกและจัดการทุนวัฒนธรรม วิกฤตและโอกาส ที่ใช้กระบวนการวิจัยจากนามธรรมไปสู่รูปธรรม จากประวัติศาสตร์ไปสู่ภูมิภาค จากเมืองไปสู่ชุมชน และทำงานบนสเกลใหญ่ไปเล็ก ที่ทำหน้าที่ในการสะท้อนให้เห็นถึงจุดเด่นและโอกาสในการพัฒนา รวมถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงและหายไปของลำน้ำหรือแหล่งน้ำ และลำเหมืองหรือทางน้ำขนาดเล็กถึงกลางใช้ในการระบายน้ำจากถนนหรือทุ่ง หรือใช้ในชลประทานส่งน้ำจากบริเวณหนึ่งไปยังบริเวณที่ต้องการน้ำเพื่อเพาะปลูก ลำเหมืองมักจะพบได้ในบริเวณไร่หรือพื้นที่การเกษตรในเมืองเชียงใหม่ โดยโครงการวิจัยได้จำแนกพัฒนาการของเมืองเชียงใหม่และแหล่งน้ำออกเป็น 4 ยุค คือ ยุคที่ 1 ยุคก่อนราชวงศ์มังราย – พญาผายู ยุคที่ 2 ยุคพญากือนา – พญาติโลกราช ยุคที่ 3 ยุคพญาแก้วแห่งราชวงศ์มังราย -ยุคพลตรีฯ เจ้าแก้วนวรัฐ และ ยุคที่ 4 ยุคพลตรีฯ เจ้าแก้วนวรัฐ (ปี พ.ศ.2477 – ปัจจุบัน)

7. โครงการพัฒนาแผนจิตภาพและข้อเสนอการพัฒนาคลองแม่ข่าเมืองเชียงใหม่ : ด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองของชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน และเป็นเงื่อนปมสำคัญที่หากได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ในมิติอื่น ๆ ได้ โดยศักยภาพของคลองแม่ข่าเปรียบเสมือนระเบียงของการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูสภาพแม่น้ำคูคลอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คนที่เป็น “ใจของเมืองเชียงใหม่” เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัด คือ “คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข”

ทั้งนี้ สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เตรียมจัดงานใหญ่ส่งท้ายปี งานมหกรรม ภูมิพลังแผ่นดิน
1 Minute
กิจกรรมเพื่อสังคม
ไม่สนคำ ว่าทำบุญเอาหน้า…เสี่ยเดย์ นักบุญเจ้าเดิมช่วยการศึกษาอีกกว่า 3 ล้าน
0 Minutes
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดงานวันสถาปนาครบรอบ 53 ปี ชูแนวคิด ทุ่มเทอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างประสบการณ์สุขภาพที่เหนือชั้น เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มการยอมรับและมั่นใจกับผู้มารับบริการ