เออาร์วี ร่วม ปตท.สผ. ขนทัพซูเปอร์เทคฯ ไฮไลต์ ร่วมโชว์ศักยภาพ การทำงาน ‘ทางน้ำ-ภาคพื้น-อากาศ’ พร้อมตอกย้ำวัฒนธรรมองค์กรนวัตกรรมของไทย และความพร้อมการนำอนาคตมาสู่ภาคเศรษฐกิจ

เออาร์วี ร่วม ปตท.สผ. ขนทัพซูเปอร์เทคฯ ไฮไลต์ ร่วมโชว์ศักยภาพ

การทำงาน ‘ทางน้ำ-ภาคพื้น-อากาศ’ พร้อมตอกย้ำวัฒนธรรมองค์กรนวัตกรรมของไทย

และความพร้อมการนำอนาคตมาสู่ภาคเศรษฐกิจ 

  • เปิดไฮไลต์สะท้อนความสำเร็จ Innovation Culture จากศูนย์ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) จ.ระยอง พร้อมบทบาท 3 โซลูชันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจากเออาร์วี

กรุงเทพฯ 8 ธันวาคม 2566 – บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ผู้นำด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ ภายใต้กลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โชว์ศักยภาพความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติการครอบคลุมทั้ง ‘ทางน้ำ-ภาคพื้น-ทางอากาศ’ พร้อมขนนวัตกรรมสุดล้ำ 6 ผลงานไฮไลต์ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานจริงสร้างแรงบันดาลใจและสะท้อนความสำเร็จในการสร้างองค์กรที่มีวัฒนธรรมนวัตกรรม (Innovative Culture) โดยร่วมจัดแสดงพร้อมกับนวัตกรรมของ ปตท.สผ. ณ ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์
จ.ระยอง

ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) กล่าวว่า เออาร์วี ร่วมแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ โดยส่งผลงานนวัตกรรมของเหล่านวัตกรเออาร์วีมาจัดแสดง ณ ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) ร่วมกับนวัตกรรมของ ปตท.สผ. ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ครอบคลุม 3 โซลูชัน ได้แก่ ระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติการทางน้ำ จากผลงาน XPLORER (เอ็กซ์พลอเรอร์) ยานยนต์ตรวจสอบท่อใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย ระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติการภาคพื้น ได้แก่ LAIKA (ไลก้า) หุ่นยนต์สี่ขาสำหรับการตรวจการและปฏิบัติการในพื้นที่อันตราย และ MARS (มาร์ส) หุ่นยนต์พร้อมแขนสำหรับการปฏิบัติการบนฐานปฏิบัติการนอกชายฝั่ง และ ระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติการทางอากาศ จากผลงาน HORRUS (ฮอรัส) โดรนขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ และระบบตรวจสอบการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก จาก VARUNA (วรุณา) และการจัดการเมืองอัจฉริยะ ของ BEDROCK (เบดร็อค)

โดยผลงานที่นำมาจัดแสดงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของธุรกิจแม่อย่าง ปตท.สผ. และสอดคล้องกับโครงการพัฒนาเทคโนโลยีภายใต้กลยุทธ์ 3 ด้าน ของ ปตท.สผ. และเออาร์วี ได้แก่ 1. ด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2. ด้านเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3. ด้านเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและธุรกิจใหม่

“การนำผลงานเข้าร่วมจัดแสดงในครั้งนี้ นอกเหนือจากเพื่อแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่หยุดนิ่งของ ARV ในการเรียนรู้และพัฒนา รวมถึงการเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมทางนวัตกรรม (Innovation Culture) ที่ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มากในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเข้ามาช่วยสนับสนุน อำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลด Human Error และทำงานเสี่ยงอันตรายแทนมนุษย์ได้ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้มาเยี่ยมชม”

ดร.ธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำเสนอระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติการทางน้ำ ยังเป็นการสร้างระบบนิเวศที่จะนำประเทศไทยให้สามารถสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันเศรษฐกิจสีน้ำเงินครอบคลุมกิจกรรมทางชายฝั่งที่สำคัญคือ การทำประมง การขุดเจาะน้ำมัน การขนส่งทางทะเล และการท่องเที่ยว ซึ่งการขุดเจาะน้ำมันเป็นการดำเนินงานที่สำคัญของ ปตท.สผ. ที่มุ่งสรรหาปิโตรเลียมเพื่อสนองความต้องการใช้พลังงานทั้งภายในประเทศ และประเทศที่ไปลงทุน ทั้งนี้มีการประมาณการณ์ว่า มูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มีการจ้างงานกว่า 350 ล้านตำแหน่งในภาคการดังกล่าว โดยการมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องนี้ยังสามารถช่วยได้ทั้งการลดการเผชิญวิกฤตทรัพยากรเสื่อมโทรม การใช้ทรัพยากรทางทะเลที่มีมูลค่าให้เกิดความยั่งยืน

ขณะที่ระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติการภาคพื้น เป็นอีกส่วนที่สำคัญต่อการทำงานในด้านการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งในปัจจุบันจะพบว่าในเขตบริเวณก่อสร้าง การสำรวจพื้นที่ หรือทรัพยากรยังมีอันตรายหรือบางสภาวะที่มนุษย์ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจำแนกการใช้ศักยภาพของมนุษย์ และหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก – อุตสาหกรรมขั้นสูงซึ่งนับว่ามีบทบาทในด้านมูลค่ากับประเทศไทยในขณะนี้ ส่วนหุ่นยนต์ปฏิบัติการทางอากาศและระบบตรวจสอบการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกและการจัดการเมืองอัจฉริยะ เป็นอีกก้าวสำคัญในการเตรียมประเทศไทยให้ก้าวทันเจตนารมณ์โลกกับนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และสอดรับกับตลาดการซื้อขายคาร์บอนที่เริ่มมีการดำเนินการกันอย่างจริงจังทั่วโลกในขณะนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

สอบถามรายละเอียดหรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://arv.co.th/ เพจเฟซบุ๊ก AI and Robotics Ventures (https://www.facebook.com/arv.th) หรือโทร. 02 078 4000