โครงการสมุทรสงครามอยู่ดี สานพลังความรู้-พลังพหุภาคี ปลุกชีพจร “อัมพวา”
เทศบาลตำบลอัมพวา ต่อยอดขยายผลโครงการวิจัยสมุทรสงครามอยู่ดี สู่ภาคปฏิบัติ
สร้างความอยู่ดีกินดีมีสุขแก่คนพื้นที่ บนฐานนิเวศวัฒธรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชน ฟื้นความมีชีวิตชีวาคืนสู่อัมพวา
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ได้ดำเนินงานจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น โดยมุ่งหวังให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขับเคลื่อนให้กลไกในพื้นที่มีความเข้มแข็ง สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยจังหวัดสมุทรสงครามเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ด้วยทุนทางศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ทางวัฒนธรรม ผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์ และบริการทางวัฒนธรรมนำไปสู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ในวันที่ 21 ต.ค 66 หน่วย บพท. จึงนำคณะสื่อมวลชน ร่วมกิจกรรมศึกษาดูงาน โครงการ”สมุทรสงครามอยู่ดี: การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานนิเวศน์วัฒนธรรมและวิถีชุมชน” ภายใต้การบูรณาการศาสตร์ องค์ความรู้วิชาการ และงานวิจัยของมหาวิทยาลัยศิลปากร และทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยได้เริ่มจากวัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา ฟังการบอกเล่า “การสนับสนุนการวิจัย เพื่อการยกระดับและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก” จาก รองศาสตราจารย์ ดร ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร
จากนั้นร่วมรับฟังและชมการสาธิตอุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลและการทำฐานข้อมูลของโครงการฯ ,ชมประติมากรรมปูนปั้นวิหารพระพุทธบาทวัดบางกะพ้อม โดยนักวิจัยของโครงการฯได้เก็บข้อมูลแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมด้วยเทคโนโลยีการสแกนสามมิติ สแกนเก็บข้อมูลตัวอาคาร เก็บข้อมูลประติมากรรมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้สามารถเก็บข้อมูลมรดกทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมทรงคุณค่าด้วยวิธีการบูรณาการเทคโนโลยีได้อย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรกของไทย
จากนั้นไปกลุ่ม “ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์” ที่ทำงานร่วมกับโครงการฯโดยต่อยอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ,กิจกรรมลงเรือชมคลอง ซึ่งเกิดจากหลายภาคส่วนร่วมกันฟื้นฟูโครงข่ายเส้นทางสัญจรทางน้ำที่คลองบางจากเป็นพื้นที่นำร่อง
เยี่ยมชมโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ พูดคุยนักวิจัยโคงการสมุทรสงครามอยู่ดีฯ ชมการแสดงจากเยาวชน ชมรมศิลปวัฒนธรรมอัมพวา ในงานTwinkle Amphawa | ระยิบระยับอัมพวา ,วัฒนธรรมสร้างสรรค์โภชนศิลป์ถิ่นแม่กลอง จากความหลากหลายทางนิเวศน์สู่สำรับแห่งประสบการณ์ โดยอาจารย์สุถี เสริฐศรี อาจารย์-นักวิจัยที่ทำหน้าที่เป็นเชฟ ที่เกิดจากการลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามบันทึกสูตรลับสำรับอาหารท้องถิ่นที่ผูกพันกับระบบนิเวศอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเมืองแม่กลอง มาสู่การสร้างสรรค์ เพื่อนำสำรับต้นตำรับมาสู่การสร้างสรรค์สำรับอาหาร “โภชนศิลป์”
ด้าน รศ.ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยสมุทรสงครามอยู่ดี: การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน ระยะที่ 2
มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า โครงการสมุทรสงครามอยู่ดี เป็นโครงการวิจัย เพื่อแสวงหาข้อมูลและพัฒนาชุดความรู้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานนิเวศวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย ตลอดจนข้อแนะนำจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)และได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2564 ภายใต้กรอบการวิจัยมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ จาก บพท.
“การขับเคลื่อนกระบวนการวิจัยของเรา เริ่มต้นจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลท้องถิ่นอย่างละเอียด และลงสำรวจพื้นที่จริง ร่วมกับภาคีในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศบาลตำบลอัมพวา องค์การบริหารส่วนตำบลบางช้าง
และชุมชนบางสะแก โดยบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ ทั้งสถาปัตยกรรมศาสตร์-สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์-วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนทศแล้วนำข้อค้นพบมาออกแบบเป็นชุดความรู้ ที่สามารถนำไปใช้
ประโยชน์ได้จริง”
รศ.ดร.เกรียงไกร กล่าวต่อว่า ผลลัพธ์จากงานวิจัยทำให้เกิดผลผลิต แผนที่นิเวศวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่นที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่และระบบฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ที่เกี่ยวเนื่องกับนิเวศวัฒนธรรม ช่างฝีมือท้องถิ่น ศิลปิน ตลอดจนผู้ประกอบการวัฒนธรรมในพื้นที่ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดขยายผลการใช้ประโยชน์ในการสร้างความยั่งยืนแก่เศรษฐกิจและวิถีชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นายกฤษฎี กลิ่นจงกล นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ต้องขอบคุณ บพท. ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มในเรื่องขององค์ความรู้จากการศึกษาค้นคว้าจนเกิดเป็นผลงานวิจัย “สมุทรสงครามอยู่ดี : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน” และส่งผลทำให้เทศบาลของเรา มีองค์ความรู้ในการฟื้นฟูจิตวิญญาณของอัมพวาให้กลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างมั่นใจ และสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองได้เร็วขึ้น โดยงานวิจัย “สมุทรสงครามอยู่ดี” ที่ทางเทศบาลได้นำไปต่อยอดมีด้วยกัน 2 เรื่องสำคัญได้แก่ การท่องเที่ยวทางน้ำ และงานด้านศิลปวัฒนธรรม โดยในส่วนของการท่องเที่ยวทางน้ำ ช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้จะมีการฟื้นเรื่องตลาดน้ำ ตลาดเรือขึ้นมาใหม่ พร้อมกับมีแผนสร้างคนพายเรือให้ตลาดน้ำในอนาคตด้วย และได้ให้นโยบายกับโรงเรียนว่าเด็กอัมพวาต้องว่ายน้ำได้พายเรือเป็น ขณะเดียวกันสมุทรสงครามอยู่ดีฯ ยังช่วยปูทางผลักดันคลองบางจาก ทำให้เกิดกิจกรรมนักท่องเที่ยวมาพายเรือเก็บขยะแล้วเราก็นำไปต่อยอดโดยการนำเด็กนักเรียน ป.5 ป.6 ออกมาเก็บขยะและเกิดเป็นกิจกรรม “พายไปกิน พายไปชิม พายไปอนุรักษ์” จนเกิดเป็นอาชีพมัคคุเทศก์น้อย โครงการ”สมุทรสงครามอยู่ดีฯ” ยังถูกนำไปต่อยอดทำให้เกิดกิจกรรมใหม่คือการพายเรือไปชมหิ่งห้อย ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อหิ่งห้อยเหมือนเช่นเรือยนต์ โดยเราตั้งเป้าไว้ที่คลองบางจากเพราะอยู่ใกล้อัมพวา แล้วมีต้นทุนที่ดีด้วยทั้งเรื่องอาหาร ขนม บ้านสวน โรงเจ ตรงนั้นก็จะดูเมืองได้ 360 องศาเลย ประการสำคัญคลองบางจาก มีสตอรี่ไม่แพ้คลองอัมพวา เป็นอีกตลาดที่คู่กับตลาดน้ำอัมพวาแต่ไม่มีใครรู้ มีโรงเลื่อย มีชาวบ้านมีร้านทองในคลองบางจาก
โครงการสมุทรสงครามอยู่ดีฯ โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร จากการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพท. ทำให้คลองบางจาก ได้รับการยกระดับจากรัฐบาลกำหนดให้เป็นคลองเฉลิมพระเกียรติ ตามนโยบายหนึ่งจังหวัดหนึ่งคลอง ซึ่งจะส่งผลให้มีงบประมาณบูรณาการเข้าไปพัฒนาอย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้สามารถจัดกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับสายน้ำได้ตลอดทั้งปี และตั้งใจให้เรือทุกลำที่จะแล่นในคลองนี้ ต้องปลอดจากเครื่องยนต์ เพื่อเป็นการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นคลองปลอดคาร์บอน หรือ Net Zero” และสำหรับคุณูปการของงานวิจัยโครงการสมุทรสงครามอยู่ดี ยังถูกน้ำไปต่อยอดงานด้านศิลปวัฒนธรรม เราตั้งชมรมศิลปวัฒธรรมอัมพวาขึ้นโดยการรวบรวมครูอาจารย์ที่รักในงานด้านศิลปะทั้งครูโขน ครูดนตรีไทย ครูรำ ครูต่าง ๆ มาสอนเด็ก ๆ ในเขตเทศบาลฟรีไม่มีค่ใช้จ่าย
“ผมตั้งใจประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่า อัมพวา คือ เมืองตันกำเนิดของรามเกียรติ์ในเมืองไทย เพราะที่นี่คือที่ประสูติของล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ โดยตอนนี้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เราจัดให้เด็กแต่งตัวเป็นโขนในรามเกียรติ์มาเดินทักทายกับชาวบ้าน และเรานำตัวละครในรามเกียรติ์มาประดับไว้ในป้ายตลาดน้ำ เพื่อตอกย้ำว่าอัมพวาคือเมืองรามเกียรติ์”
ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ผลงานวิจัยโครงการสมุทรสงครามอยู่ดีฯ ของคณาจารย์คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผลงานที่น่าชื่นชม สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงสอดคล้องกับเจตนารมย์การสนับสนุนทุนวิจัยของ บพท, ที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ซึ่งพิสูจน์ยืนยันหนักแน่นจากนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลอัมพวา ที่เป็นผู้นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ซึ่งที่ผ่านมา บพท. มีการสนับสนุนทุนวิจัย ผ่านกลไกเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใน 4 ภูมิภาค เพื่อหนุนเสริมกลไกในพื้นที่ในการเชื่อมความรู้จากทุนทางวัฒนธรรมไปสู่การเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ โดยความร่วมมือกับภาคีในพื้นที่ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศิลปิน ช่างฝีมือ ปราชญ์ชาวบ้าน ภาคธุรกิจเอกชน ร่วมมือกันออกแบบสร้างระบบนิเวศทางวัฒนธรรมของตนเองใหม่ (Re-designing Community Culture) รื้อฟื้นวัฒนธรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยของคนในพื้นที่ สร้างผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและมูลค่าสูงด้วยนวัตกรรมการสร้างสรรค์ และเกิดการสร้าง “นวัตกรทางวัฒนธรรม” โดยเน้นการขับเคลื่อนในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนคืนถิ่น และช่างฝีมือท้องถิ่น ช่วยกันฟื้นคุณค่าของทุนที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในพื้นที่
“ต้องขอขอบคุณอย่างยิ่งต่อท่านนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา ,ท่านนายกฯ กฤษฎี กลิ่นจงกล ซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขพันธุ์แท้ของพี่น้องชาวอัมพวา ที่เห็นคุณค่างานวิจัย และนำเอางานวิจัยไปต่อยอด ขยายผลใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง ในกระบวนการฟื้นฟูจิตวิญญาณของอัมพวาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยไปทำให้อัมพวามีชีวิตชีวาที่ยั่งยืน บนฐานภาคีความร่วมมือกันของประชาคมชาวอัมพวา และบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนอัมพวา”