กตส.สรุปผลงาน ปี 66 พร้อมเดินหน้าพัฒนาความเข้มแข็งด้านบัญชีแก่สหกรณ์และเกษตรกร

กตส.สรุปผลงาน ปี 66 พร้อมเดินหน้าพัฒนาความเข้มแข็งด้านบัญชีแก่สหกรณ์และเกษตรกร

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สรุปผลงานประจำปี 2566 ชูพัฒนาศักยภาพด้านการเงินการบัญชีแก่สหกรณ์และ กลุ่มเกษตรกร สร้างเสริมนวัตกรรมการให้บริการ เพิ่มความเข้มข้นการตรวจสอบบัญชีและการควบคุมภายใน พร้อมเดินหน้าพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรคุณภาพ สร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวสรุปผลการดำเนินงานและการปฏิบัติงานในรอบปี งบประมาณ 2๕6๖ ว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ภายใต้วิสัยทัศน์“ตรวจสอบบัญชีและส่งเสริมการทำบัญชี เพื่อสร้างความเข้มแข็ง โปร่งใสแก่สหกรณ์และเกษตรกร” เพื่อยกระดับความสามารถการบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีและการควบคุมภายในของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร การใช้ข้อมูลทางบัญชีและนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการอย่างทันต่อสถานการณ์และมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้

 

การจัดทำบัญชีให้แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกร รวมทั้งเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ เกษตรกร มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน โดยมีผลดำเนินงานตามภารกิจหลัก ดังนี้

ด้านการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร กรมฯ ได้มุ่งเน้นการตรวจสอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว สร้างระบบการกำกับดูแลและตรวจสอบคุณภาพการสอบบัญชีสหกรณ์อย่างเข้มข้น เตรียมความพร้อมพัฒนาสู่มาตรฐานการบริหารคุณภาพงาน

สอบบัญชี (TSQM) ด้วยมุ่งหวังให้สหกรณ์มีระบบบริหารจัดการด้านการเงินที่ดี สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกได้ โดยในปีงบประมาณ 2566 มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการตรวจสอบบัญชีแล้ว 11,444 แห่ง สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินได้ 8,599 แห่ง

ด้านการพัฒนาศักยภาพด้านบริหารจัดการทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกร กรมฯ ได้สอนแนะการจัดทำบัญชี เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความสามารถในการจัดทำบัญชีและงบการเงิน ส่งเสริมให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี

สร้างธรรมาภิบาลในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการพัฒนาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง 450 แห่ง แบ่งเป็น กรรมการดำเนินการสหกรณ์ 500 ราย ฝ่ายจัดการ 300 ราย ผู้ตรวจสอบกิจการ 250 ราย เจ้าหน้าที่บัญชี 400 ราย รวมถึงมีการพัฒนาศักยภาพในการจัดทำบัญชีและการนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการแก่วิสาหกิจชุมชน 954 แห่ง ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้ส่งเสริมให้สหกรณ์ใช้งานโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร (Full Pack Account Software) ซึ่งปัจจุบัน มีสหกรณ์ที่ใช้บริการแล้ว 1,789 แห่ง รวมถึงการส่งเสริมให้สหกรณ์ คณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ และสมาชิกใช้งานแอปพลิเคชัน SmartMember และ SmartManage

 

ด้านการส่งเสริมการจัดทำบัญชีแก่เกษตรกรและประชาชน กรมฯ มุ่งการเสริมสร้างวินัยทางการเงิน ภาคครัวเรือนและการใช้ข้อมูลทางบัญชีในการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรและประชาชน ให้สามารถจัดทำบัญชีได้ ใช้ข้อมูลทางบัญชีเป็น ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และมีเงินออม รวมถึงการต่อยอดให้เกษตรกรรุ่นใหม่พัฒนาสู่การเป็น Smart Farmer และการขยายผลเครือข่ายชุมชนคนทำบัญชี สามารถพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรได้ มีการจัดทำแผนธุรกิจ รู้จักการคำนวณต้นทุน มองเห็นช่องทางการต่อยอดผลผลิตต่าง ๆ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 มีเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับการส่งเสริมการจัดทำบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือน 34,557 ราย และบัญชีต้นทุนอาชีพ 24,713 ราย

 

ในปีงบประมาณ 2567 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังคงมุ่งเน้นการปฏิบัติงานในภารกิจหลักในการสร้างสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง โดยเฉพาะในมิติประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และมิติประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร โดยการขับเคลื่อนโครงการ “THINK & DO TOGETHER” บูรณาการเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนแก่สหกรณ์ ซึ่งกรมฯ มีแผนจะต่อยอดการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทุกจังหวัดทั่วประเทศในปี 2567 โดยเริ่มดำเนินการนำร่องแล้วในปี 2566 รวม 21 รุ่น มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 134 สหกรณ์ จำนวนผู้เข้าอบรมรวม 1,049 คน  เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีและการควบคุมภายในให้กับสหกรณ์ มุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือ 5 ประสาน ได้แก่ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ฝ่ายจัดการสหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ (กรมตรวจบัญชีสหกรณ์) และผู้ตรวจการสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

“สำหรับนโยบายในปีหน้า ได้วางแผนขับเคลื่อนการสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์ โดยมุ่งเน้นให้สหกรณ์ยกระดับ การควบคุมภายในให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี ขับเคลื่อนผ่านการบูรณาการร่วมกัน ภายใต้โครงการ “THINK & DO TOGETHER” ยกระดับคุณภาพงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี พัฒนาความรู้ความสามารถของผู้สอบบัญชี ซึ่งกรมฯ จะออกนโยบายควบคุมคุณภาพออกมารองรับ เพื่อให้ผู้สอบบัญชีได้นำไปถือปฏิบัติ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้รายงานทางการเงินของสหกรณ์ รวมไปถึงภารกิจในการเสริมสร้างองค์ความรู้และสอนแนะการจัดทำบัญชีให้เกษตรกร เยาวชนและประชาชน ให้มีวินัยทางการเงิน เกษตรกรสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมให้มีความยั่งยืน ภายใต้กลไกการทำบัญชี” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว