ชสอ. รับรางวัลพิพิธภัณฑ์ไทยสดุดี รางวัลพิพิธภัณฑ์ไทยสรรเสริญ และประกาศนียบัตรผู้มีคุณูปการต่อวงการพิพิธภัณฑ์ไทย
ในพิธีมอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ไทยดีเด่น ประจำปี 2566
วันที่ 29 กันยายน 2566 รองศาสตราจารย์พิเศษ พลโท ดร.วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการ ชสอ. เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ไทย โดย อาจารย์ชาญณรงค์ พุ่มบ้านเช่า นายกสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย กล่าวรายงาน สำหรับ นิทรรศการความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ไทย ได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้เครือข่ายพันธมิตรสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย ให้เกียรติเข้าร่วมจัดแสดงผลงานและข้อมูลต่างๆ อาทิ บริษัท บิซ่า เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด โรงเรียนสายปัญญาในพระบรมราชินูปถัมภ์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะในขวดแก้ว พิพิธภัณฑ์ศิริราช พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งน่าน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พิพิธภัณฑ์หัวโขน หัวละคร นายชนก ช่างเรียน สถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) พิพิธภัณฑ์ญัฮกุร จังหวัดชัยภูมิ บริษัท อินเตอร์แอคชั่น ดีไซน์สตูดิโอ จำกัด โดยจัดแสดงตั้งแต่เวลา 9.30 น. จนถึงเวลา 15.30 น. ณ โถงนิทรรศการฯ ชั้น 1 สำนักงาน ชสอ.
จากนั้นในเวลา 13.30 น. นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้กรุณามาเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ไทยดีเด่น ประจำปี 2566 ซึ่งพิพิธภัณฑ์สหกรณ์และแหล่งเรียนรู้สหกรณ์ของ ชสอ. ได้รับรางวัลพิพิธภัณฑ์ไทยสรรเสริญ ประจำปี 2566 ประเภทดีเลิศ เป็นรางวัลสำหรับพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้สหกรณ์ หน่วยงานและองค์กรดีเด่นทางด้านการพัฒนาวงการพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ของประเทศไทย และรางวัล พิพิธภัณฑ์ไทยสดุดี ประจำปี 2566 ให้แก่ รองศาสตราจารย์พิเศษ พลโท ดร.วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการ ชสอ. ผู้ริเริ่มส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดพิพิธภัณฑ์สหกรณ์ แหล่งเรียนรู้ทางด้านเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญและยั่งยืนของประเทศไทย และประกาศนียบัตรผู้มีอุปการะคุณต่อวงการพิพิธภัณฑ์ไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ ปิติปัญญา รองประธานกรรมการ ชสอ. เป็นผู้รับมอบ โดยรางวัลพิพิธภัณฑ์ไทยสรรเสริญ และรางวัลพิพิธภัณฑ์ไทยสดุดี ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลระดับชาติ (NATIONAL AWARD)โดยกำหนดให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนคณาจารย์ นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนผู้สนใจในวงการพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ เสนอรายชื่อและประวัติพร้อมเหตุผลครอบคลุมทั้งพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศไทย และ บุคคลผู้มีคุณูปการและผลงาน เป็นที่ประจักษ์ในวงการพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ให้เข้ารับรางวัลพิพิธภัณฑ์ไทยสรรเสริญ สำหรับพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ หน่วยงานและองค์กรดีเด่นทางด้านการพัฒนาวงการพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ของประเทศไทย และเข้ารับรางวัลพิพิธภัณฑ์ไทยสดุดี สำหรับบุคคลและหน่วยงาน องค์กรที่มีคุณูปการผู้สร้างองค์ความรู้และคุณประโยชน์ส่วนรวมต่อวงการพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ของชาติไทย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและประกาศเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์สืบไป
โดยในปี 2566 นี้ มีผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนคณาจารย์ นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนผู้สนใจในวงการพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ เสนอรายชื่อ บุคคล พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ทั่วประเทศไทยเข้ามาจำนวนมากกว่า 200 ราย โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ไทย เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกและตัดสินโดยในปี 2566 ใช้เกณฑ์ประเด็นการมอบรางวัลฯ ในเรื่อง “พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ MUSEUM AND LEARNING CENTER & SDGs17” นั้นเอง