กรมประมง ครบรอบปีที่ 97 “สร้าง เสริม เพิ่ม ยก พัฒนา ประมงไทยก้าวสู่ศตวรรษใหม่อย่างยั่งยืน”
พร้อมขับเคลื่อนภาคการประมงไทย ภายใต้นโยบาย รมว.กษ. “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมงจัดงาน “วันสถาปนากรมประมง ครบรอบปีที่ 97” และ “วันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2566” โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานฯ และร่วมพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำออนไลน์ จำนวนทั้งสิ้น 1,200,000 ตัว ลงในแหล่งน้ำสำคัญของไทย 4 แห่ง เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ พร้อมมอบโล่รางวัลแก่เกษตรดีเด่น ข้าราชการดีเด่น และแสดงความยินดีกับกรมประมง ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศมากถึง 11 รางวัล เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานของกรมประมง ตลอดจนเยี่ยมชมนิทรรศการ “97 ปี กรมประมง สร้าง เสริม เพิ่ม ยก พัฒนา ประมงไทยก้าวสู่ศตวรรษใหม่อย่างยั่งยืน” และร่วมอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของร้าน Fisheries Shop
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่ภาคการประมงของประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยการพัฒนาการผลิตสัตว์น้ำและสินค้าประมงที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนป้องปรามการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดและยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพประมงให้เกิดวิถีความอยู่ดีมีสุขให้กับเกษตรกรชาวประมงและประชาชนมาโดยตลอด ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ภาคการประมง สูงถึง 130,313 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากปี 2564 และยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการขับเคลื่อนภารกิจงานที่สำคัญ อาทิ การใช้มาตรการและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการประมงที่เกี่ยวข้อง การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ โครงการยกระดับมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออก การพัฒนาเทคนิคการเลี้ยง การพัฒนาสายพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อให้ได้ ลูกพันธุ์ ที่ต้านทานโรคและมีอัตราการรอดสูง ฯลฯ ประกอบกับการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล ส่งเสริม ติดตาม และแก้ไขปัญหาการเลี้ยงในแต่ละพื้นที่ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงและลดต้นทุน นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันการส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสินค้าประมงที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคและรองรับการส่งออกได้มากยิ่งขึ้น โดยกรมประมงได้ดำเนินโครงการ Fisherman Shop เพื่อเป็นจุดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อช่วยกระจายสินค้าสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวประมงและเกษตรกรโดยตรงถึงผู้บริโภค
จากความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน ภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน ส่งผลให้ในปีนี้ กรมประมงสามารถคว้ารางวัลเกียรติ ได้มากถึง 11 รางวัล อาทิ (1) รางวัลแห่งคุณค่าองค์กรพัฒนาสร้างสรรค์สังคม (รางวัลชนะเลิศ Ombudsman Awards) รางวัลเลิศรัฐ เช่น (2) รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ PMQA 4.0 / รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม เช่น (3) ธนาคารสัตว์น้ำลำปาง ศูนย์กลางการขยายผลต้นแบบแหล่งผลิตสัตว์น้ำชุมชน (4) คุ้งกระเบนโมเดล ต้นแบบการบูรณาการทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างยั่งยืน (5) ร่วมใจแก้จน ขยายผลสาหร่ายพวงองุ่นสร้างรายได้เกษตรกรและชุมชน / รางวัลเลิศรัฐสาขาการบริการภาครัฐ ได้แก่ (6) ขยายระบบการให้บริการการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สู่เรือประมง รางวัลสำเภา-นาวาทอง (รางวัลสุดยอดหน่วยงานรัฐด้านอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ) : (7) ระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำนำเข้า PPS (ระบบสนับสนุนใบอนุญาตและใบรับรองผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของกรมประมง (Fisheries Single Window : FSW) ระบบการตรวจสอบตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า (Port State Measure : PSM) ระบบการออกหนังสือรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ (Processing Statement Endorsement : PSE) (8) การชำระค่าธรรมเนียม เท่ากับ ต่ออายุใบอนุญาต (สำหรับวัตถุอันตรายที่กรมประมงรับผิดชอบ) (9) ระบบการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน (Small Scale Service : SSS) (10) ระบบเชื่อมโยงคำขอกลางและระบบสนับสนุนใบอนุญาตและใบรับรองผ่านอินเตอร์เน็ต กรมประมง หรือ Fisheries Single Window (FSW) (11) การให้บริการในการออกใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) ผ่านระบบ e-Certification สำหรับสินค้าสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก
สำหรับการจัดงานสถาปนากรมประมง ครบรอบปีที่ 97 และวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2566 ที่จัดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ นอกจากจะมีการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรม ทำบุญเลี้ยงพระ และวางพวงมาลาถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนกแล้ว ยังมีกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำออนไลน์ ลงแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สำคัญของไทย 4 แห่ง ได้แก่ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา หนองหาร จังหวัดสกลนคร เขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,200,000 ตัว โดยสัตว์น้ำที่ปล่อยมีทั้งหมด 8 ชนิด ประกอบด้วย ปลาตะพัด ปลาตะเพียนทอง ปลาตะเพียนขาว ปลาบ้า ปลากระแห ปลาเทพา ปลาสร้อยขาว และปลาหมอตาล นอกจากนี้ ยังมีพิธีการมอบโล่รางวัลให้กับผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการประมงไทย อาทิ เกษตรกรดีเด่น ข้าราชการดีเด่น Ombudsman Awards รางวัลเลิศรัฐ รางวัลสำเภา-นาวาทอง รางวัลหน่วยงานที่พัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ รางวัลงานวิจัยดีเด่น รางวัลหน่วยงานกรมประมงที่มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) อาสาสมัครประมงดีเด่น และการประกาศเกียรติคุณให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมประมงที่เกษียณอายุราชการ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับทุกคน ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการทางวิชาการ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประมงจากร้าน Fisherman Shop
และก้าวต่อไป กรมประมงจะยังคงบูรณาการขับเคลื่อนและยกระดับภาคการประมงไทยให้สามารถแข็งขัน ได้ในระดับสากลและใช้ทรัพยากรอย่างสมดุลยั่งยืนควบคู่ไปกับความกินดีอยู่ดีของพี่น้องเกษตรกรชาวประมง ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า) ด้วยกลยุทธ์สร้าง สมดุลการประมงที่รักษ์สิ่งแวดล้อมให้ได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรและปัจจัยการผลิตเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าเสริม ความมั่งคั่งให้เกษตรกรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เพิ่มผลผลิตและมูลค่า เพิ่มรายได้จากอัตราการขยายตัวของมูลค่าสินค้าประมง เพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยสินค้าดี มีคุณภาพ ปลอดภัย และหลากหลาย ส่งเสริมผู้ประกอบการและเกษตรกรให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ยกระดับการประมงไทยด้วยงานวิจัยและพัฒนา พร้อมตอบสนองเป้าหมายการพัฒนารที่ยั่งยืน มุ่งเน้นเกษตรกรรมยั่งยืนพัฒนา กำลังคนและการดำเนินงานของรัฐให้ทัดเทียมสากลจนเกิดการยอมรับในระดับนานาชาติ มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการของรัฐโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนภาคการประมงของไทยเพื่อให้เกษตรกรชาวประมงและประชาชนในประเทศได้มีทรัพยากรสัตว์น้ำไว้ใช้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพประมงที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น…อธิบดีกรมประมง กล่าว