ภาครัฐเข้มวางแผนจัดการน้ำ คาดไทยเผชิญเอลนีโญต่อเนื่อง
- กอนช. เผยไทยยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน หน่วยงานภาครัฐจึงเร่งเตรียมพร้อมรับมือและวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มข้นก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอ
วันที่ 20 ก.ย. 66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อน ส่งผลให้มีปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศ ต่ำกว่าค่าปกติ 14% โดยมีปริมาณฝนสะสมต่ำสุดในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งต่ำกว่าค่าปกติถึง 31% ซึ่ง กอนช. จะมีการติดตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งอย่างใกล้ชิดเพื่อจะได้วางแผนบริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ในขณะที่ปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศในช่วงต้นฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 คาดการณ์ว่าจะมีจำนวน 24,372 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งในภาพรวมปริมาณน้ำยังคงน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้วอยู่ 11,481 ล้าน ลบ.ม.
“แม้ปัจจุบันสภาวะเอลนีโญจะยังมีกำลังอ่อน ทำให้ยังมีฝนตกในหลายพื้นที่ และมีปริมาณน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 3,081 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าจะมีน้ำไหลเข้าเพิ่มในสัปดาห์นี้อีก 3,174 ล้าน ลบ.ม. สำหรับพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยทั่วประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 24 จังหวัด ซึ่ง กอนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้ความช่วยเหลือและบริหารจัดการน้ำเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ไปแล้ว คงเหลืออีกเพียง 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย อดรธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และปทุมธานี ซึ่งจะเร่งดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม สภาวะเอลนีโญมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูแล้ง ก่อนที่จะมีกําลังอ่อนลงและต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์เอลนีโญได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สทนช. จึงได้เร่งวางแผนและเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งอย่างเข้มข้น โดยมีการถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วน เพื่อนำมาใช้สำหรับปรับปรุงร่าง 9 มาตรการเตรียมการรองรับฤดูแล้งที่ปี 2566/67 ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ช่วงเดือนตุลาคมจากนั้นจึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ และนำมาขับเคลื่อนโดยบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” ดร.สุรสีห์ กล่าว
ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับสภาวะเอลนีโญอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำมีความละเอียดอ่อนมากกว่าสภาวะปกติ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในวันที่ 25 ต.ค. 66 ซึ่งเป็นวันครบก่อนการดำเนินงานปีที่ 6 ของ สทนช. จึงได้มีการจัดงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศภายใต้สภาวะเอลนีโญ โดยมีการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และภาคประชาชน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศภายใต้สภาวะเอลนีโญ อีกทั้งมีการจัดนิทรรศการของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแสดงผลงานและการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำ รวมกว่า 17 หน่วยงาน
“และในโอกาสนี้ สทนช. ได้จัดประกวดคลิปสั้นความยาวไม่เกิน 2 นาที และคลิปใน TikTok ความยาวไม่เกิน 3 นาที ภายใต้หัวข้อ “รณรงค์ประหยัดน้ำเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสภาวะเอลนีโญ” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า โดยผู้ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัล พร้อมประกาศนียบัตร และจะมีการจัดพิธีมอบรางวัลให้แก่ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท พร้อมจัดแสดงผลงานในวันงานครบรอบของ สทนช. สำหรับทุกท่านที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเพจ Facebook : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และส่งผลงานได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 10 ต.ค. 66” เลขาธิการ สทนช. กล่าว