ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์  แถลงข่าวจัดงานลางสาดและลองกองหวาน ประจำปี 2566

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์  แถลงข่าวจัดงานลางสาดและลองกองหวาน ประจำปี 2566

เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ณ บริเวณสวนธนาฟาร์ม ต.นา-นก-กก อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์  จากการนำของนายสมหวัง พ่วงบางโพ ผวจ.อุตรดิตถ์ ประธานฯ , นางพรทิพย์​ ศรี​สมโภชน์​ เกษตร​จังหวัด​อุตรดิตถ์​ นางเยาวรัตน์​ พันธ์​ทอง​ ผอ.กลุ่มงายยุทธศาสตร์​การพัฒนา​ชชุมชน สนง.พัฒนา​ชุมชน​จังหวัด​ออุตรดิตถ์ นายศิวัช ฟูบินทร์ นายอำเภอลับแล นางชลธิชา ฟูบินทร์ กิ่งกาชาดอำเภอลับแล นายเกรียงศักดิ์ ทิพย์พรหม  นายกอบต.นา-นก-กก พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยนายสมหวัง พ่วงบางโพ ผวจ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า การจัดงานลางสาด เป็นงานที่ได้มีการจัดงาน มานานหลายปี ความเป็นมาของการจัดงานในอดีต หากพูดถึงลางสาดในภาคเหนือ จะมีอยู่แห่งเดียวเท่านั้น ก็คือที่เมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์  ดังนั้น เพื่อให้คนในภาคเหนือ ได้รับประทานและรู้จักผลไม้ชนิดนี้มากขึ้น ทางอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้จัดให้มีงานลางสาดเป็นงานระดับอำเภอขึ้น โดยมีการจัดประกวดลางสาดในงานด้วย ซึ่งทำให้มีผู้ให้ความสนใจไปเที่ยวชมงาน และเลือกซื้อลางสาดไปรับประทาน รวมถึงรับซื้อไปจำหน่ายต่อ ทั้งภายในจังหวัดและต่างจังหวัดมากขึ้น ต่อมาในปี 2528 สมัย ดร.ธวัช มกรพงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ท่านมีดำริว่า น่าจะจัดงานนี้ ให้เป็นงานใหญ่ระดับจังหวัด และให้เป็นงานเทศกาลประจำปีของจังหวัด เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงลางสาด และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอุตรดิตถ์ไปพร้อมๆ กัน จึงได้จัดงานชื่อว่า “งานเทศกาลลางสาดจังหวัดอุตรดิตถ์ ประจำปี 2528” ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ บริเวณสนามกีฬาพระยาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัด และงานนี้ก็ได้มีการจัดติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นปี 2564 ไม่สามารถจัดงานได้เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งถ้านับรวมปีนี้ ถือเป็นการจัดงานปีที่ 37


ทั้งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีนโยบายขับเคลื่อน “12 เป้าหมายร่วมจังหวัดอุตรดิตถ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566” ในส่วนของเป้าหมายที่ 6 เมืองผลไม้คุณภาพ เกษตรปลอดภัย ใช้จุดแข็งจากการมีไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง นำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สร้างความสามารถทางการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเป็นการเชื่อมโยงคู่ค้าธุรกิจเครือข่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและร้านอาหาร ทำให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่แน่นอนและมีรายได้เพิ่มมากขี้น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เป็นที่ทราบกันโดยกว้างขวางในแง่มุมของ “เมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้” ที่ได้รวมเอาผลไม้ของจังหวัดอุตรดิตถ์มาไว้ที่นี่ ซึ่งนอกจากลางสาดและทุเรียนแล้ว ส่วนใหญ่เกษตรกรก็จะปลูกรวมๆ อยู่ภายในบริเวณเดียวกัน ได้แก่ ลองกอง มังคุด มะไฟหวานเป็นต้น ส่วนอำเภอเมือง จะมีเงาะ ฝรั่ง กล้วย มะไฟหวาน อำเภอพิชัย มีมะปรางหวาน องุ่น อำเภอตรอน มีกระท้อน ส้มโอ อำเภอท่าปลา มีลำไย เงาะ เม็ดมะม่วงหิมมะพานต์ อำเภอน้ำปาด มีสัปปะรดห้วยมุ่น อำเภอฟากท่าและอำเภอบ้านโคกมีมะขามหวาน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าจังหวัดอุตรดิตถ์ นี่เป็นเมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้จริงๆ ซึ่งท่านอยากจะรับประทานผลไม้อะไรก็มีให้รับประทาน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 6 เมืองผลไม้คุณภาพ เกษตรปลอดภัย ในการผลิต มีเป้าหมายว่าจะไม่ให้มีการใช้สารเคมี และไม่ใช่เฉพาะไม้ผลเท่านั้น การผลิตทางการเกษตรทุกชนิดจะเน้นการเกษตรอินทรีย์ คือการใช้สารธรรมชาติตั้งแต่การทำปุ๋ยบำรุงดินไปจนถึงสารกำจัดแมลง และเทคนิควิธีการดูแลรักษาสวนผลไม้และผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ โดยวิธีธรรมชาติ โดยนำหลักการทางวิชาการเข้ามาเสริม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรเอง และไม่ทำลายสภาพแวดล้อมด้วย เรื่องนี้จังหวัดอุตรดิตถ์ถือเป็นนโยบายสำคัญ

ในส่วนของงานเทศกาลลางสาดนั้นมีกิจกรรมมากมาย อาทิ พิธีเปิดชมริ้วขบวนแห่การแสดงศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นบ้านและวิถีชาวสวน การประกวดลางสาด การประกวดลองกอง การประกวดจัดกระเช้าผลไม้ ประเภทสวยงาม ชมนิทรรศการนวัตกรรมทางการเกษตร กิจกรรมแสดงดนตรีและศิลปวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ นิทรรศการและการสาธิตการทอผ้าจังหวัดอุตรดิตถ์ เลือกซื้อลางสาด ลองกองหวาน ผลไม้นานาชนิด ผลิตภัณฑ์ OTOP ของดีจากทั้ง 9 อำเภอ ชมคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง สวนสนุกชุดใหญ่ทุกคืน และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย.ซึ่งท่านที่มาจากต่างจังหวัดนอกจากได้มาเที่ยวชมงานลางสาด ลองกองหวานจังหวัดอุตรดิตถ์แล้ว ยังจะสามารถเดินทางต่อเพื่อไปเที่ยวชมเมืองอุตรดิตถ์ตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ผู้สนใจสามารถเข้าไปเที่ยวชมถึงสวนได้ โดยการประสานในพื้นที่และเจ้าของสวนโดยตรง


สำหรับ ลางสาดและลองกองของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่แหล่งปลูกอยู่ตามภูเขาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของอำเภอลับแล และอำเภอเมือง ลองกองต้นดั้งเดิมเป็นต้นลางสาด ชาวสวนใช้วิธีนำกิ่งพันธุ์ลองกองมาเสียบยอดหรือต่อยอด ชาวสวนได้มีการบำรุงตั้งแต่เริ่มออกดอก ติดผลและแต่งช่อให้ได้ลางสาด – ลองกอง ที่กลายเป็นลองกองที่มีช่อขนาดใหญ่ขึ้น มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และรสชาติไม่หวานจัดอร่อยไม่แพ้ลองกองทางภาคใต้ เปลือกหนา สามารถเก็บไว้ได้นานหลายวัน สำหรับกิจกรรมที่สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์จะจัดขึ้นภายในงานจะมีการประกวดการจำหน่าย ลางสาด ลองกอง ผลผลิตทางการเกษตร/นวัตกรรมทางการเกษตร / การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จังหวัดอุตรดิตถ์ จึงขอเชิญเที่ยวงานลางสาด และลองกองหวาน ประจำปี 2566 ปีนี้ทางจังหวัดได้มีกำหนด จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 24 กันยายน 2566 รวม 10 วัน 10 คืน ณ บริเวณสนามกีฬาพระยาพิชัยดาบหัก

เอนก ธรรมใจ
รายงาน