สกสว. ร่วมมือ มธ. เปิดเวทีถก! แบ่งทรัพยากรอย่างไร ให้การศึกษาไทยไม่เหลื่อมล้ำ

สกสว. ร่วมมือ มธ. เปิดเวทีถก!

แบ่งทรัพยากรอย่างไร ให้การศึกษาไทยไม่เหลื่อมล้ำ

สกสว. ร่วมมือ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. และเครือข่ายครู จัดเวทีสัมมนาวิชาการ Education Journey Forum ครั้งที่ 9 หารือประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาไทย มุ่งสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน หวังเด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีสัมมนาทางวิชาการ Education Journey Forum ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “แบ่งทรัพยากรอย่างไร ให้การศึกษาไทยไม่เหลื่อมล้ำ” ภายใต้โครงการการจัดการความรู้และขับเคลื่อนระบบการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ มองจุดคานงัด เพิ่มการมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา และให้ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพราะการเปลี่ยนแปลงการศึกษาเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดพลังการขับเคลื่อนจากฐานรากนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้และการศึกษาของประเทศ โดยมี รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. รศ. ดร.อนุชาติ พวงสำลี หัวหน้าคณะทำงานวิชาการ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ ผู้บริหารองค์กรด้านการศึกษา นักวิชาการนักวิจัย ภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการเมือง และสื่อมวลชน เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว ณ โรงแรมอัศวินแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นายศุภวัจน์ พรมตัน (ครูมะนาว) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ครูแถแพ้ไม่เป็น” สะท้อนความดิ้นรนของครูคนหนึ่ง ที่เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของการเปิดเพจเกี่ยวกับนักเล่าเรื่องครูบนโซเชียลมีเดีย แบ่งเป็น EP ต่าง ๆ คือ “EP.1 ครูบ้านดอย” ในบทบาทครูจบใหม่ที่สอนในโรงเรียนชนบท เล่าเรื่องถึงความขาดแคลนในโรงเรียนชนบท การสอนในรูปแบบต่าง ๆ ระบบการเลื่อนเงินเดือน และบทบาทของครูหนึ่งคนที่สอนเกือบทุกวิชา “EP.2 จากบ้านดอยสู่นคร” จากชนบทเข้าสู่ตัวเมือง สื่อถึงสิ่งที่คิดและตั้งใจจะทำแต่ไม่ได้ทำเพราะต้องย้ายโรงเรียน ทำให้เริ่มมองเห็นถึงปัญหาและการจัดการเรียนการสอนใหม่ “EP.3 เปิดเพจ อะไรอะไรก็ครู” สื่อถึงแผนการสอนและแผนการส่ง หรือกระทั่งการประเมินที่ตกไม่ได้ การวัดความรู้โดยการติวแทนการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพราะการติวทำให้คะแนน ONET ของโรงเรียนนั้นสูงขึ้น “EP.4 จุดเริ่มต้นของครูสายแถ” การลองปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ไปตามสื่อการเรียนการสอนแต่ละแบบ ให้เกิดความสนุกในห้องเรียน เปิดรับฟังจากนักเรียนมากขึ้นทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ การใช้ประเด็นสังคมเข้ามาปรับกับกิจกรรมจนเกิดเป็นกระแสบนสื่อในขณะนั้น เกิดเป็นคำถามว่า “ทำไมสิ่งที่เราทำ แม้มันจะโดดเด่นในสายตาคนทั่วไป แต่ทำไมไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานทางวิชาการได้” คนทั่วไปให้คุณค่ากับสิ่งที่เราทำแบบไหน? “EP.5 ครูแถแพ้ไม่เป็น” ได้ไปในเวทีใหม่ ๆ ออกจากกรอบความคิดความเชื่อเดิม กล้าที่จะทำตามความรู้สึกและกล้าที่จะยืนหยัดจนสำเร็จ ทำให้ทัศนคติเปลี่ยนไปกับการให้คุณค่าที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกือบจะเปลี่ยนเป็นคนละแนวตั้งแต่เริ่มทำเพจในตอนแรก “EP.6 จากพลเรียน ถึงครูขอสอน” การเปลี่ยนทัศนคติในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การพูดถึงจัดสรรสวัสดิการของครูที่ควรจะได้รับ จนเกิดเป็นเพจครูปล่อยของที่กล้าแชร์มากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างครูมากขึ้น

         “ความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดเจน คือ เวลามีการแข่งขันกิจกรรมภายนอก ที่มีตั้งแต่การเดินทาง ที่พัก การเรียนการสอนช่วงไปแข่งขันกิจกรรม อาหารการกิน และอุปกรณ์การแข่งขันในการสนับสนุนนักเรียนนั้น มีความแตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียนว่ามีงบประมาณอยู่ในระดับใด แม้การพูดถึงประเด็นการศึกษา จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกมากมาย ก็ยังเหมือนเดิม สิ่งที่ครูพยายามตอนนี้ คือ ขออยู่กับเด็ก ๆ  การไม่รอระบบ ต้องการพัฒนาตนเอง สวัสดิภาพและสวัสดิการ” ครูมะนาว กล่าวทิ้งท้าย

ก่อนจะมีการเสวนาในประเด็น “แบ่งสรรทรัพยากรอย่างไร ให้การศึกษาไทยไม่เหลื่อมล้ำ” ดังนี้

ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ ธนาคารโลก บรรยายประเด็น “แนวทางการจัดสรรทรัพยากรตามมาตรฐานคุณภาพต่ำของโรงเรียน (FSQL)” เปิดเผยถึงงานวิจัย PISA 2018 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนลดลงมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้ค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผลสัมฤทธิ์ทางด้านการศึกษา รวมถึงทักษะในด้านต่าง ๆ นั้นลดลง ส่วนข้อมูล FSQL ในด้านการบริหารจัดการและค่าเฉลี่ยแต่ละด้านของโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กไม่เพียงแต่ขาดแคลนครู เท่านั้น แต่ยังขาดแคลนอีกหลายปัจจัย เช่น ห้องเรียน อุปกรณ์การเรียนรู้ การเดินทาง ด้านกีฬา โดยมองว่าต้องเริ่มจัดการจาก 1.จำนวนโรงเรียนให้เหมาะสมกับจำนวนเด็ก 2.เพิ่มการพัฒนาโครงสร้างโรงเรียนให้มีคุณภาพเท่า ๆ กัน ไม่กระจายทรัพยากร โดยใช้เทคโนโลยีเข้าไปประเมินความขาดแคลนแต่ละโรงเรียน เพื่อให้เกิดการพัฒนาแก้ไขที่ตรงจุด

คุณพงศ์ทัศ วนิชานันท์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ บรรยายประเด็น “แนวทางการจัดสรรทรัพยากรแบบใหม่เพื่อโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” เปิดเผยถึง ผลวิจัยการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ระบุว่า เรามีปัญหาด้านการจัดสรรงบประมาณที่ลงทุนเยอะแต่กลับได้ผลน้อย ส่งผลให้ระบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ในการสร้างเด็กให้พร้อมในโลกอนาคต สำหรับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเปิดโอกาสให้สร้างระบบนิเวศน์ทางการศึกษาใหม่ เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการคิดค้นนวัตกรรมการเรียนรู้ และนวัตกรรมการบริหารจัดการใหม่ ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การเป็นต้นแบบและพร้อมขยายผลต่อในวงกว้าง

ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายประเด็น “มิติที่หลากหลายของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ระบุว่า ในปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในประเทศไทย ประกอบด้วย ความไม่เท่าเทียมด้านการเข้าถึง การเข้าไม่ถึงการศึกษา ความไม่เท่าเทียมด้านผลลัพธ์/คุณภาพ ความไม่เท่าเทียมด้านตัวเลือก ความไม่เท่าเทียมด้านประสบการณ์การเรียนรู้ ขณะที่ อุดมคติของระบบการศึกษาที่เสมอภาคของนิสิต คือ ทุกคนได้รับการศึกษามาตรฐานเดียวกัน คนไม่มีเงินต้องได้เรียน การเข้าถึงการศึกษาของคนต่างจังหวัดต้องไม่ด้อยกว่าคนในเมือง ระบบการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะในกลุ่ม LGBTQ/ชนกลุ่มน้อย/อื่น ๆ คนที่มีความสามารถได้รับการส่งเสริมให้ได้รับโอกาสที่เหมาะสมกับความสามารถ ส่วนคนที่มีความสามารถน้อยกว่าก็ได้รับการสนับสนุนให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ เช่นกัน และการส่งเสริมองค์ความรู้ที่หลากหลาย

ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย บรรยายประเด็น “บทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ต่อนโยบายการสร้างความเสมอภาคด้านการศึกษา” ระบุว่า นอกจากปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลงแล้ว ส่วนมากยังอยู่ในมิติครอบครัวที่มีความพร้อมไม่มากนัก ส่งผลให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ ไทยจำเป็นต้องปรับปรุงระบบสวัสดิการ ที่ไม่ใช่เรื่อง “สงเคราะห์” แต่เป็นระบบช่วยการพัฒนาประเทศโดยใช้ “คน” เป็นศูนย์กลาง เพื่อตอบโจทย์ปัญหาหลักของประเทศ คือ ความเหลื่อมล้ำ (คนไทยจนกระจาย) สังคมสูงวัย (คนแก่มากขึ้น คนหนุ่มสาวต้องเตรียมภาระหนักในอนาคต) และกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เพราะไทยอยู่ในวังวนปัญหา 3 เรื่องนี้มานานมาก บางเรื่องก็สายเกินไป หากไม่รีบแก้ไขปัญหาก็จะยิ่งหนักและแก้ไขยาก หรือถึงขั้นแก้ไขไม่ได้