สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นไม้ร่วมกับผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา ปี 2566 ณ สวน 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นไม้ร่วมกับผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา ปี 2566

ณ สวน 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันพุธที่  2 สิงหาคม ๒๕๖6 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กอบศักดิ์          วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 250 คน เฝ้าฯ รับเสด็จ

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นไม้เนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา ปี 2566 ร่วมกับคณะผู้บริหาร  คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ สวน 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 5 ต้น โดยต้นที่ 1 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นอินทนิลน้ำ ร่วมกับ นายกสภามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ต้นที่ 2 ทรงปลูกต้นยางนา ร่วมกับอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก สถาบัน ต้นที่ 3 ทรงปลูกต้นประดู่ป่า ร่วมกับคณบดีคณะวนศาสตร์ คณาจารย์ และบุคลากรคณะวนศาสตร์ ต้นที่ 4 ทรงปลูกต้นแดง ร่วมกับนายกสโมสรนิสิตคณะวนศาสตร์ และต้นที่ 5 ทรงปลูกต้นตะแบก ร่วมกับ นายกสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สมาคมนิสิตเก่าวนศาสตร์ ทั้งนี้ ไม้ที่ทรงปลูกทั้ง 5 ต้นเป็นไม้ที่มีประโยชน์ในเชิงเนื้อไม้เป็นหลัก โดยสามารถใช้เป็นไม้ก่อสร้างหรือเป็นไม้เครื่องเรือนได้ ไม้แดง ประดู่ป่า อินทนิลน้ำ ตะแบก เป็นไม้ยืนต้นที่พบได้ในป่าผสมผลัดใบ เป็นต้นไม้ที่มีความแข็งแรง เจริญเติบโตได้ดี และสามารถเติบโตปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย สำหรับไม้ยางนา เป็นไม้ขนาดใหญ่ขึ้น เป็นไม้เด่นที่พบในป่าดิบ อีกทั้งยังพบขึ้นได้ตามคันนาในภาคกลางและภาคอีสาน รวมทั้งตามริมฝั่งแม่น้ำอีกด้วย

สวน 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ตรงข้ามสระจุฬาภรณวลัยลักษณ์ สร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ   60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสวนหย่อมสำหรับการเดิน วิ่งออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังมีเครื่องเล่นสำหรับออกกำลังกายกลางแจ้งหลายชนิด รวมทั้งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมแอโรบิค ให้แก่บุคลากร นิสิต และประชาชนทั่วไปได้  มาออกกำลังกาย นับเป็นสถานที่ที่ร่มรื่นและเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยเป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายอย่างยิ่ง  โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตร นิทรรศการวิชาการ ด้านต่าง ๆ ภายในงาน จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่

  1. 62 ปี จากป่าสู่วัง จากวังสู่มหานคร นิทรรศการที่แสดงถึงเส้นทางของพระมหากรุณาธิคุณการ        ปลูกต้นไม้ 62 ปี จากป่าสู่วัง จากวังสู่มหานคร โดยเริ่มจากสายพระเนตรอันยาวไกลของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี พ.ศ. 2504 ทรงห่วงใยในสถานการณ์ของไม้ยางนาที่ถูกตัดไปใช้สอยและทำเป็นสินค้าจำนวนมากขึ้นทุกปี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทางรถยนต์ไปแปรพระราชฐาน ณ พระที่นั่งวังไกลกังกล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ผ่านป่ายางนาสูงใหญ่สองข้างถนนเพชรเกษม ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 176-179 ท้องที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทรงห่วงว่ายางนากลุ่มนี้จะหายไป จากการขยายของเมืองและการทำมาหากินของชาวบ้าน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปเก็บเมล็ดยางนา เมื่อเดือนเมษายน 2504 และได้ทรงเพาะเมล็ดไม้ยางนาโดยพระองค์เองไว้บนดาดฟ้าบนพระตำหนักเปี่ยมสุข ในพระราชวังไกลกังกล หัวหิน จากนั้นได้ทรงปลูกกล้าไม้ยางนาอายุ 4 เดือน ในบริเวณสวนจิตรลดาร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร คณาจารย์ และ นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวัน ที่ 28 กรกฎาคม 2504 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ จำนวน 1,096 ต้น โดยมีระยะปลูก 2.5 x 5 เมตร เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 1 งาน ซึ่งถือเป็นสวนป่ายางนาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะวนศาสตร์ และโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการปลูกไม้ยางนาในบริเวณสวนจิตรลดา โดยมี ศาสตราจารย์เทียม คมกฤส คณบดีคณะวนศาสตร์ ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าโครงการ  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร    ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คณาจารย์และนิสิตคณะวนศาสตร์ เข้าไปดูแลรักษาเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเข้าไปปลูกต้นไม้ในวันปลูกต้นไม้แห่งชาติของทุกปีเป็นต้นมา จนถึงปี 2537 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จแทนพระองค์ ลงมาร่วมปลูกต้นไม้ ทรงเป็นขวัญและกำลังใจแก่นิสิตคณะวนศาสตร์ที่เข้าไปถวายงานปลูกต้นไม้ในวัง ตราบจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้พื้นที่ปลูกในพระตำหนักสวนจิตรลดาจะเต็มแล้ว ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จมาร่วมปลูกต้นไม้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทุกปี และมหาวิทยาลัยได้ใช้พื้นที่ปลูกต้นไม้อันเป็นสิริมงคลดังกล่าว เป็นสวนสาธารณะให้นิสิต บุคลากร และประชาชน ได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป

(ถวายรายงานโดย  ดร. ดำรงค์  ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

  1. การศึกษาผลิตภาพการผลิตและคุณค่าโภชนาการเชิงหน้าที่ของบุกบนสภาพพื้นที่สูง “บุก .. สู่การสร้างป่าฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากร..สร้างรายได้” โดยคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับศูนย์สิรินธร เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกพืชที่มีศักยภาพด้านการปลูกผลิตในระบบเกษตรบนพื้นที่สูง ใต้ร่มเงาเรือนยอดพืชภายในระบบวนเกษตร ที่มีอายุสั้นคลุมผิวดิน เพื่อช่วยในการฟื้นฟูและปรับปรุงทรัพยากรดินเพื่อการเกษตร ภายใต้ระบบเกษตรผสมผสาน โดยดำเนินการรวบรวมและคัดเลือกกลุ่มพันธุ์บุกที่มีศักยภาพการปลูกบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ศึกษาคุณค่าเชิงโภชนาการและคุณค่าเชิงหน้าที่ของบุกที่ปลูกภายใต้สภาพพื้นที่สูงของประเทศไทยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเชิงคุณค่าเชิงโภชนาการและคุณค่าเชิงหน้าที่ของบุก ผลของโครงการวิจัยนี้ จะทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์ด้านพันธุกรรมและลักษณะทางการเกษตรที่ดีของบุก เพื่อคัดเลือกกลุ่มเชื้อพันธุกรรมของบุกที่มีลักษณะการปรับตัวที่ดีในสภาพพื้นที่เกษตรบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ที่มีคุณค่าเชิงโภชนาการและคุณค่าเชิงหน้าที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเชิงคุณค่าเชิงโภชนาการและหน้าที่ เพื่อการพัฒนาการผลิตด้านการเกษตรร่วมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรอย่างยั่งยืนต่อไป

(ถวายรายงานโดย  รศ.ดร. ปิติพงษ์ โตบรรลือภพ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

  1. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อการจำแนกชนิดพรรณไม้และพื้นที่สีเขียวในเมือง ภายใต้โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางกรีนดิจิทัล ซึ่งเป็นความร่วมมือ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยความร่วมมือดังกล่าวจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการจำแนกชนิดพรรณไม้ยืนต้น และจำแนกพื้นที่สีเขียวในเมือง พร้อมทั้งทำการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ควบคู่กับการสำรวจภาคสนามเพื่อพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการทำงานให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการเพิ่มพื้นที่ สีเขียวในเมือง การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพื่อมู่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

(ถวายรายงานโดย ผศ.ดร.มณฑาทิพย์ โสมมีชัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

  1. เครื่องอบเนื้อสัตว์แดดเดียวไม่ง้อแดด Version 4 ผลงานของรศ.ดร.คุณยุต เอี่ยมสะอาด ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และรศ.ดร.วรัทยา ธรรมกิตติภพ ภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ จากนวัตกรรมที่เกิดจากผสมผสานเทคโนโลยี และการเกษตรเข้าด้วยกันจนได้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ และใช้งานได้จริง เครื่องอบเนื้อสัตว์แดดเดียวไม่ง้อแดด โดยอาศัยอุปกรณ์ให้ความร้อนด้วยไฟฟ้า มีจุดเด่น คือสามารถทำความร้อนและลดความร้อนได้อย่างรวดเร็ว เตามีขนาดเล็กกว่าเตาประเภทอื่น ๆ เพราะตัวทำความร้อนมีขนาดเล็ก สามารถให้ความร้อนได้อย่างรวดเร็วจึงต้องการพื้นที่ (ปริมาตร) ในเตาน้อยลงกว่าเตาประเภทอื่น ๆ เป็นเตาสะอาด ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ควบคุมความร้อนได้อย่างแม่นยำ ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ใช้เวลาอบสั้น เพียง 20 – 25 นาที ต่อการอบ 1 ครั้ง  เนื้อสัตว์ที่ได้จากการอบมีความแห้งสม่ำเสมอเท่ากันทั้งตู้ เนื้อแดดเดียวที่อบได้มีความชุ่ม น้ำหนักดีมาก ไม่หายไปเหมือนตากแดดธรรมชาติ ผู้วิจัยได้นำเทคโนโลยีนี้ไปถ่ายทอดความรู้ให้แก่ โรงเรียน ตชด. จำนวน 8 แห่ง ในจังหวัดจันทบุรีและตราด โอกาสนี้ ผู้วิจัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องอบเนื้อสัตว์แดดเดียวไม่ง้อแดด Version 4 จำนวน 2 เครื่อง เพื่อทรงใช้งานตามพระราชประสงค์ ต่อไป

(ถวายรายงานโดย รศ.ดร.คุณยุต เอี่ยมสะอาด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ ร่วมกับคณะผู้บริหาร  คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ โอกาสนี้ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตคณะวนศาสตร์ ร่วมปลูกพืชสมุนไพรที่สามารถเติบโตภายใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ในสวน โดยสมุนไพรที่ปลูกจำนวน 200 ต้น ได้แก่พริกไทย ดีปลี            ดาหลา ชะพลู ผักชีฝรั่ง ฟ้าทะลายโจร บัวบก เตยหอม ข่า

 

ข่าวโดย นางผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ /หัวหน้างานสื่อสารองค์กร / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์