สป.อว. และ สวทช. จับมือ สมาคมเครื่องจักรกลไทย ร่วมวิจัยพัฒนาเครื่องจักร เทคโนโลยีในกลุ่มเกษตร และอุตสาหกรรม แถลงความสำเร็จโชว์ 8 ผลงาน
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (สป.อว.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (หรือ MTEC สวทช.) ให้การสนับสนุนเงินทุนและการบริหารจัดการ “โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า” กับสมาคมเครื่องจักรกลไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนา วิจัย และสร้างนวัตกรรมในการผลิตเครื่องจักรไว้ใช้ภายในประเทศที่เป็นผลงานฝีมือคนไทย เพื่อทดแทนการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานประโยชน์เพื่อวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สป.อว. เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว “โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า”
นางวนิดา บุญนาคค้า กล่าวว่า วันนี้ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นความสำเร็จจากความร่วมมือในการพัฒนาสร้างเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับสมาคมเครื่องจักรกลไทย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอกชนไทยที่รวมตัวกันเพื่อวิจัยเทคโนโลยีด้านเครื่องจักรกลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ ลดการนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงภาระกิจด้านการพัฒนาวิชาชีพและช่างฝีมือแรงงานให้กับผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ทุนวิจัยภายใต้โครงการ “วิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า” เพื่อทำวิจัยในรูปแบบ Reverse Engineering ซึ่งเป็นการวิจัยเครื่องจักรกลสมัยใหม่จากต่างประเทศ นำมาถอดแบบศึกษาโครงสร้าง ชิ้นส่วนและฟังก์ชันการทำงานต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากนั้นนำองค์ความรู้ที่ได้ มาผสมผสานกับสหวิทยาการที่เรามีอยู่ ใช้ทรัพยากรในประเทศเพื่อออกแบบและสร้างเครื่องจักรกลต้นแบบให้ดีกว่าเดิม ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือสามารถซ่อมแซม บำรุงรักษาได้ด้วยคนไทย ซึ่งกระบวนการทำ Reverse Engineering เป็นการย่นระยะเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีได้ดี หลายประเทศเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีด้วยการทำ Reverse Engineering จนสามารถก้าวกระโดดกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำได้อย่างรวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน เป็นต้น
ซึ่งความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบที่นำมาแถลงข่าวในวันนี้ 8 ผลงาน ดังนี้
1. “เกวียน” หุ่นยนต์ทำไร่
2. เครื่องระเหยสุญญากาศแบบมีใบกวน
3. เครื่องอบแห้งแบบพ่นฝอยชนิดแก้ว
4. เครื่องพาสเจอไรซ์แบบแพลท
5. เครื่องผสมความหนืดสูงขนาด 200 ลิตร ระบบสุญญากาศพร้อมระบบควบคุมอัตโนมัติแบบ IIOT
6. ระบบระเหยที่อุณหภูมิต่ำด้วยระบบปั๊มความร้อนสุญญากาศ พร้อมระบบดึงกลับของเหลวสำหรับระเหย
7. ตู้อบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น สำหรับใช้งานที่อุณหภูมิต่ำ
8. ระบบตรวจสอบความผิดปกติของแผงโซลาร์เซลล์ด้วยภาพถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับ
” ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับทุกๆ ผลงานในวันนี้ และใคร่ขอความร่วมมือสื่อมวลชนได้ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานฝีมือคนไทยให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างต่อไป และในส่วนกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ยังมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับองค์กรวิจัยภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจอื่นๆ ที่มุ่งสร้างสรรค์ผลงานด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและนวัตกรรมดีๆ ให้กับประเทศไทย” ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานประโยชน์เพื่อวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวทิ้งท้าย
ด้านผลงานที่น่าสนใจจากการพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบ ภายใต้โครงการดังกล่าวฯ ซึ่งยกตัวอย่างมา 3 ผลงาน จากใน 8 ผลงาน ที่เป็นการร่วมวิจัยพัฒนาสร้างเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นเครื่องจักรที่น่าสนใจ ได้แก่
ความสำเร็จการพัฒนาสร้างเครื่องระเหยสุญญากาศแบบมีใบกวน โดย บริษัท ยูโร เบสท์ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งได้สร้างสรรค์และพัฒนาเครื่องแปรรูปอาหาร ยา และสมุนไพรด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และเครื่องระเหยสุญญากาศแบบมีใบกวน ซึ่งเป็นถังให้ความร้อนจากภายนอกของตัวถัง เป็นระบบปิดที่สร้างสภาวะสุญญากาศภายในระบบ มีระบบกวนสารภายในถัง ตัวถังมีความแข็งแรงมากพอที่จะรองรับสภาวะสุญญากาศ ระบบสุญญากาศถูกสร้างด้วยปั๊มสุญญากาศและระบบน้ำหล่อเย็นในหอกลั่นซึ่งจะดึงอากาศภายในถังระเหยแยกออกมา เราได้มีการออกแบบโดยดูเครื่องต้นแบบจากประเทศออสเตรเลีย และนำมาพัฒนาปรับให้ได้ตามความเหมาะสมและให้มีคุณภาพในการใช้งานให้ง่ายและเร็วกว่าเดิมโดย มีการพัฒนาระบบ เช่น ของเดิม ระเหยน้ำได้ 50 กิโลกรัม/ชั่วโมง พัฒนาขึ้นโดย ระเหยน้ำได้ 80 กิโลกรัม/ชั่วโมง จุดเด่นในการพัฒนา ใช้ความร้อนต่ำในการระเหย/มีใบกวนในระบบปิด กระจายความร้อน/ระบบปิดสภาวะสุญญากาศภายใน
ความสำเร็จการพัฒนาสร้างเครื่องอบแห้งแบบพ่นฝอยชนิดแก้ว(GLASS SPRAY DRYER) โดย บริษท ยูโร เบสท์ เทคโนโลยี จำกัดได้มีการพัฒนาเครื่องอบแห้งแบบพ่นฝอยชนิดแก้วมีส่วนประกอบหลักได้แก่ ถังอบแห้ง เครื่องผลิตลมร้อน ปั๊มป้อนของเหลว ไซโคลน ถังดักเก็บผง พัดลมดูด และ หัวฉีดพ่นฝอย เครื่องผลิตลมร้อนทำหน้าที่ผลิตลมร้อนป้อนเข้าถังอบแห้ง ปั๊มมีหน้าที่ป้อนวัตถุดิบเหลวเข้าหัวฉีดพ่นฝอย หัวฉีดสร้างสภาพของเหลวให้มีเป็นลักษณะฝอยละอองน้ำเล็กๆ เมื่อละอองของเหลว แลกเปลี่ยนความร้อน ผงจะถูกดูดไปที่ไซโคลนด้วยแรงดูดจากพัดลมดูดที่ต่อเข้ากับไซโคลน ไซโคลนทำหน้าที่แยกไอน้ำระบายออก ส่วนของผงถูกแยกมาเก็บในถังเก็บด้านล่างของไซโคลน โดยมีการศึกษาเครื่องต้นแบบ จากประเทศ เยอรมัน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ดีกว่าเดิม จากเดิม 1,000 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง พัฒนาแล้ว 1,500 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง และจุดจุดเด่นทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ของเครื่อง ไซโคลนแยกเป็นแก้วใสสามารถมองเห็นกระบวนการภายใน และสามารถแปรรูปวัตถุดิบที่มีปริมาณน้อยได้
ความสำเร็จการพัฒนาสร้างเครื่องพาสเจอไรซ์แบบแพลท(Plate Type Pasteurizer) โดย บริษัท ยูโร เบสท์ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งได้สร้างสรรค์และพัฒนาเครื่องแปรรูปอาหาร ยา และสมุนไพรด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างต่อเนื่องและเครื่องพาสเจอไรซ์แบบแพลท สามารถทำลายเอนไซม์ต่างๆ รวมทั้งจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค โดยอุณหภูมิที่ใช้จะไม่ทำให้น้ำเดือด ทำให้สารอาหารยังอยู่ครบถ้วนหรือเกือบครบถ้วน การพาสเจอร์ไรส์เป็นการถนอมอาหารแบบชั่วคราว สามารถป้องกันมิให้จุลชีพเจริญได้ในระยะเวลาหนึ่ง จึงมีประโยชน์ในการเก็บผลิตภัณฑ์ สำหรับการขนส่งและกระจายผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องรับประทานเป็นประจำ โดยไม่เก็บไว้นาน ๆ เช่น นม น้ำผลไม้ ไอศกรีมก่อนนำไปปั่นแข็ง เป็นต้น เราได้ใช้เครื่องต้นแบบจาก ทวีปยุโรป มาเป็นแบบในการพัฒนาจากเดิมเป็นการต้มในถังกวน เราได้พัฒนาให้ความร้อนไหลผ่านแผ่นแลกเปลี่ยนความร้อน ความสามารถในการฆ่าเชื้อในระยะเวลาอันสั้นได้ดี
สำหรับบริษัทยูโร เบสท์ฯ แห่งนี้ ได้สร้างเครื่องจักรอุตสาหกรรม นานาชนิดเพื่อสร้างมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร มานานจนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร จากทั่วประเทศได้ให้ความสนใจและส่งเสริม เพราะเครื่องจักรของ บริษัท ยูโร เบสท์ฯ มีราคาที่ถูกกว่าของต่างประเทศหลายเท่าและยังคงทนกว่า ที่สำคัญในอนาคตเครื่องจักรต้องซ่อมบำรุงดูแลสภาพ ก็มีช่างผู้เชี่ยวชาญมาคอยดูแลให้อย่างครบถ้วน และนี่คืออีกหนึ่งผู้ประกอบการ ที่เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจในความสามารถของคนไทย ที่เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก