กรมส่งเสริมการเกษตร ชู “กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนโนนกอกวิทยา ต้นแบบกลุ่มยุวเกษตรกร ปี 2566”

กรมส่งเสริมการเกษตร ชู “กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนโนนกอกวิทยา ต้นแบบกลุ่มยุวเกษตรกร ปี 2566”

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งแรงงานภาคการเกษตรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ประกอบกับคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรน้อยลง ดังนั้นการพัฒนาคนเข้าสู่ภาคการเกษตรเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในการขับเคลื่อนและพัฒนาการเกษตรของประเทศ  กรมส่งเสริมการเกษตรได้เห็นความสำคัญ และเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทายาทเกษตรกร โดยการส่งเสริมการรวมกันของเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มยุวเกษตรกร เพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มยุวเกษตรกรผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ปรับกิจกรรมให้ทันสมัยและตรงตามความต้องการของกลุ่มยุวเกษตรกร โดยการเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่ภาคการเกษตรในอนาคต โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรในปี 2566 ไว้ 5 แนวทาง ดังนี้

1) ส่งเสริมการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับยุวเกษตรกรอย่างมีศักยภาพ โดยสนับสนุนการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะด้านการเกษตร เคหกิจเกษตร ทักษะวิชาชีพต่าง ๆ ทักษะการทำงานเป็นทีมของกลุ่มยุวเกษตรกร และเสริมสร้างความเป็นผู้นำ ผ่านรูปแบบการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง (Learning by Doing)

2) ส่งเสริมกลุ่มยุวเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง โดยพัฒนากระบวนการบริหารจัดการกลุ่มยุวเกษตรกร การปฏิบัติงานของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร และการประเมินผลกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ

3) สร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดประสานกัน สนับสนุนการเปิดโลกทัศน์
และต่อยอดให้ยุวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ระหว่างกันอันนำไปสู่การพัฒนางานยุวเกษตรกรได้รอบด้านและทันต่อสถานการณ์

4) สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนายุวเกษตรกร โดยการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ ความเข้าใจในการดำเนินงานยุวเกษตรกรให้สามารถปฏิบัติงานขับเคลื่อนพัฒนางานยุวเกษตรกรไปในทิศทางเดียวกัน       อย่างมีเอกภาพ

5) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การพัฒนางานยุวเกษตรกรเชิงรุก เพื่อให้สาธารณชนรับรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในกระบวนการพัฒนายุวเกษตรกร อันนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานที่ดีของชุมชนต่อไป

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดจัดงานชุมนุมยุวเกษตรกรและที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรระดับประเทศ ประจำปี 2566 ขึ้น ระหว่างวันที่ 17 – 20 กรกฎาคม 2566 ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เพื่อแสดงผลการพัฒนาและผลของการดำเนินงานของยุวเกษตรกร ภายใต้แนวคิด “70 ปี ยุวเกษตรกรไทยร่วมกำหนดอนาคตเกษตรไทยไปด้วยกัน Shaping the Future…Together”  เพื่อให้ยุวเกษตรกรและที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร   เกิดความภาคภูมิใจและมีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองและภาคการเกษตร มีการเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่ภาคการเกษตรในอนาคต

กรมส่งเสริมการเกษตร ขอเชิญชู “กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนโนนกอกวิทยา ต้นแบบกลุ่มยุวเกษตรกร ปี 2566” ซึ่งเป็นสถาบันเกษตรกรดีเด่นประเภทกลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี 2566 ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

โรงเรียนโนนกอกวิทยา จังหวัดชัยภูมิ จัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนโนนกอกวิทยา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2546    รวมระยะเวลาจนถึงปัจจุบัน จำนวน 19 ปี ตั้งอยู่ที่ 145 หมู่ที่ 2 ตำบลโนนกอก อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบัน    มีสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร จำนวน 29 ราย สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม แนวคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรเน้นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง (Learning by doing) เช่น ยกระดับคุณภาพการผลิตพืชสู่มาตรฐาน GAP และ Business Matching จับคู่ธุรกิจสินค้ากลุ่มยุวเกษตรกร มีการสร้าง QR code เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร ในทุกฐานเรียนรู้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรนำความรู้ที่ได้จากกการลงมือปฏิบัติในโรงเรียนไปขยายผลสู่การทำการเกษตรในครัวเรือน

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนโนนกอกวิทยา มีการกำหนดวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายของกลุ่มยุวเกษตรกรที่ชัดเจน มีการวางแผนการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มที่สอดคล้องแผนกลยุทธ์โรงเรียนโนนกอกวิทยา มีการกำหนดบทบาทหน้าที่     ของกลุ่มชัดเจนทั้งคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร และที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรในการดำเนินกิจกรรม งานรวม งานกลุ่มย่อย และงานส่วนบุคคล สร้างและพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้นำของคณะกรรมการสภายุวเกษตรกร และสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร โดยฝึกให้สมาชิกผลัดเปลี่ยนกันดำรงตำแหน่งประธานในแต่ละกิจกรรม และสร้างเครือข่ายกับกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิอย่างต่อเนื่อง สร้างข้อตกลงและระเบียบในการทำกิจกรรมของกลุ่มชัดเจน การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มตามความสนใจสอดคล้องกับความถนัดของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร และบริบทของพื้นที่ และมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จำนวน 10 ฐานเรียนรู้ และจัดการผลผลิตของกลุ่มผ่านกิจกรรมสหกรณ์ โดยจัดจำหน่ายผลผลิตของกลุ่มให้กับโรงครัวของโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครอง ผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ Facebook ของกลุ่มยุวเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น มกอช. ได้นำกิจกรรมปลูกพืชผักปลอดภัยมาตรฐาน GAP  ของกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนโนนกอกวิทยาเป็นแนวทางการดำเนินกิจกรรมการเกษตรในสถานศึกษาต้นแบบตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ได้รับการประเมินศักยภาพกลุ่มยุวเกษตรกรอยู่ในระดับดี ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรจะได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งมีประโยชน์สามารถนำไปพัฒนา และต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ในอนาคต

 

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เตรียมจัดงานใหญ่ส่งท้ายปี งานมหกรรม ภูมิพลังแผ่นดิน
1 Minute
กิจกรรมเพื่อสังคม
ไม่สนคำ ว่าทำบุญเอาหน้า…เสี่ยเดย์ นักบุญเจ้าเดิมช่วยการศึกษาอีกกว่า 3 ล้าน
0 Minutes
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดงานวันสถาปนาครบรอบ 53 ปี ชูแนวคิด ทุ่มเทอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างประสบการณ์สุขภาพที่เหนือชั้น เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มการยอมรับและมั่นใจกับผู้มารับบริการ