สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ จัดประชุมออนไลน์ ออนไซต์ เรื่อง”โรคพาร์กินสันและการป้องกัน ความฝันหรือความจริงที่เป็นไปได้”   กระตุ้นประชาชนรู้ทันป้องกันโรค

 

 

 

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ จัดประชุมออนไลน์ ออนไซต์ เรื่อง“โรคพาร์กินสันและการป้องกัน ความฝันหรือความจริงที่เป็นไปได้”   กระตุ้นประชาชนรู้ทันป้องกันโรค

วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย  จัดโครงการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร  การประชุมวิชาการเรื่อง “โรคพาร์กินสันและการป้องกัน ความฝันหรือความจริงที่เป็นไปได้” ที่โรงแรมรอยัลปริ้นเซส หลานหลวง กรุงเทพมหานคร  โดยจัดในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์

โดยมีศาสตราจารย์ ดร. ภก.ชยันต์ พิเชียรสุนทร ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงาน และเปิดการประชุมโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา และศาสตราภิชานนายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สภากาชาดไทย  และมีศาสตราจารย์ นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ภาคีสมาชิก เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายและจัดประชุม ซึ่งการประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นการให้ข้อมูลทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคพาร์กินสัน สาธารณสุข เทคโนโลยี ราชบัณฑิต และภาคีสมาชิกที่มีความมุ่งมั่น มุ่งหวังในการที่จะสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนในประเทศไทย

ซึ่งหัวข้อในการบรรยายเนื้อหามีความน่าสนใจ และได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมประชุมออนไลน์จำนวนมาก โดยการประชุมวิชาการครั้งนี้จะทำให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงความสำคัญของโรคพาร์กินสัน ว่าจริงๆไม่ได้เป็นโรคที่มีอยู่ไกลตัวในชีวิตจริงของสังคมไทยในปัจจุบัน  ซึ่งปัจจุบันเป็นสังคมของผู้สูงอายุที่มีผู้สูงอายุมากถึง 14%ของประเทศไทย ในขณะเดียวกันข้อมูลของโรคพาร์กินสัน ในเรื่องของการป้องกันที่ได้เสวนาครั้งนี้ ยังสามารถนำมาใช้เป็นตัวอย่างของการดูแลสุขภาพทางด้านสมอง เพื่อการป้องกันโรคสมองในภาพรวมอีกด้วย


สำหรับการบรรยายในครั้งนี้ได้พูดในเชิงระบาดวิทยาที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันทั่วโลก และรวมถึงทั่วประเทศไทย โดยผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอายุที่น้อยลง จากอายุโดยเฉลี่ย 65 ปี จำนวนผู้ป่วยพาร์กินสันอายุน้อย มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การศึกษาทางคลินิกหรืออาการของผู้ป่วยพาร์กินสัน ทำให้มีความเข้าใจเพิ่มเติมอีกด้วยว่า โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคที่ค่อนข้างช้า โดยที่ผู้ป่วยนั้นจะมีอาการนำของการเตือนมากกว่า 5-10 ปี ก่อนจะเริ่มมีอาการของโรคพาร์กินสัน ซึ่งช่วงของระยะแรกของโรคนี้เป็นที่น่าเสียดายในการเข้ารับการรักษาในปัจจุบันว่าผู้ป่วยมารับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนน้อย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การเสวนาในครั้งนี้จึงมุ่งหวังให้เกิดความรู้ ความตระหนัก ความตื่นตัวของอาการเตือนในโรคพาร์กินสัน และผู้ป่วยพาร์กินสันระยะแรก แนวทางในการวินิจฉัยหรือการประเมินอาการ โดยใช้ระบบดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันมีประโยชน์ในการค้นหากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรก หรืออาการเสี่ยงของการเกิดโรคนี้เป็นจำนวนมาก การเสวนาในครั้งนี้ได้ให้ข้อมูลตัวอย่างถึงความเป็นไปได้และสิ่งที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ได้ทดสอบระบบดิจิทัลเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำในระดับสูง พร้อมที่จะใช้ในการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในประเทศไทย สำหรับกลุ่มที่มีอาการระยะแรกหรืออาการเสี่ยง
เพื่อการป้องกันโรคต่อไป

โดยการเสวนาในช่วงหลังได้พูดในเรื่องของแนวทางการป้องกันโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นการปรับมุมมองจากเมื่อสมัยก่อน ว่าโรคสมองเสื่อม และโรคพาร์กินสัน ถูกคิดว่าเป็นโรคที่เป็นแล้วไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้ มาสู่แนวคิดที่ว่าโรคสมองเสื่อม และโรคพาร์กินสัน ก็สามารถป้องกันได้ ถ้าเราเริ่มต้นเร็ว ปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอและปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในหลายๆ ด้านที่เน้นในเรื่องของการทานอาหารสุขภาพที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายที่ดีต่อสมอง การนอนแบบมีสุขลักษณะ ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้ส่งผลให้เป็นการช่วยเพิ่มระบบสำรองของสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะมีอาการแสดงออกที่ช้า หรืออาจมีอาการแสดงออกเพียงเล็กน้อย ในช่วงอายุที่มาก

โดยการเสวนาครั้งนี้ได้เน้นย้ำเรื่องการปรับคุณภาพชีวิตในเรื่องของ Eat Move Sleep โดยสรุปแต่ละหัวข้อได้ดังนี้

1. โรคพาร์กินสันป้องกันได้จริงหรือไม่: การปรับเปลี่ยนสุขภาพ, การออกกำลังกาย, อาหารเมดิเตอร์เรเนียน และความเป็นไปได้ของการปรับวิธีการทานอาหารเพื่อป้องกันโรคในประเทศไทย

ปัจจุบันเชื่อว่าการป้องกันโรคพาร์กินสันอาจจะสามารถเริ่มต้นได้จากการรับประทานอาหารของแต่ละบุคคล โดยอาหารเมดิเตอร์เรเนียนเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบหลักมาจาก ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่ว ปลา สัตว์ปีก น้ำมันมะกอก และไวน์แดง ในปัจจุบันพบว่าอาหารเมดิเตอร์เรเนียนมีหลักฐานสนับสนุนอย่างดีว่า สามารถช่วยป้องกันและลดอาการของโรคสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสันได้ เพราะอาหารเมดิเตอร์เรเนียนมีสารอาหารที่สำคัญต่อสุขภาพสมอง เช่น แร่ธาตุ วิตามิน และอุดมด้วยไขมันดี โอเมก้า-3 เป็นต้น โดยจากการศึกษาด้วยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบพบว่า ผู้สูงวัยที่รับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียนอย่างต่อเนื่องจะมีความเสี่ยงของการเกิดอาการพาร์กินสันน้อยกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับประทาน และผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่รับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียนอย่างต่อเนื่อง จะลดอาการของโรคพาร์กินสัน ทั้งอาการทางการเคลื่อนไหวและอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว เมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่ไม่ได้รับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การออกกำลังกาย และการเลือกทานอาหารสุขภาพเชิงรุกจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงและชะลอความก้าวหน้าของโรค ทั้งนี้การตรวจเช็คสุขภาพและปรึกษาแพทย์เป็นประจำก็เป็นส่วนสำคัญในการรักษาสุขภาพระยะยาวและเฝ้าระวังโรคพาร์กินสันรวมถึงโรคความเสื่อมทางระบบประสาทอื่นๆ ได้อีกด้วย

2. การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
การออกกำลังกายสม่ำเสมอสามารถทำได้ในคนทั่วไปตั้งแต่อายุน้อยจนถึงผู้สูงอายุ โดยอาจจะสามารถป้องกันการเกิดโรคพาร์กินสันได้ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือมีอาการนำก่อนการเกิดโรคพาร์กินสันก็อาจจะสามารถป้องกันการเกิดโรคพาร์กินสันได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเองถ้าได้ออกกำลังกายก็อาจจะชะลอการดำเนินโรคได้ โดยการออกกำลังกายแบบแอโรบิกในระดับกลางขึ้นไป เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิก ต่อยมวย หรือ เล่นกีฬาเป็นทีม จนทำให้ร่างกายเหนื่อย เหงื่อออก แต่ยังพูดเป็นประโยคได้ เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์หรือนับก้าวเดินอย่างน้อย 6,000-10,000 ก้าวต่อวัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเร็วในการเดิน ส่วนการออกกำลังกายในผู้ป่วยพาร์กินสันสามารถทำได้ตั้งแต่ระยะแรกของโรค โดยการออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบ (Multimodality intervention) ประกอบด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่นเดียวกับผู้สูงอายุทั่วไป การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายเพื่อฝึกการเดินและการทรงตัวเพื่อการเดินที่มั่นคง และลดการหกล้ม โดยเน้นการออกกำลังกายที่ทำได้จริง สม่ำเสมอ ตอนยาออกฤทธิ์ ออกกำลังกายทั้งในบ้านและนอกบ้าน ทั้งนี้ต้องระมัดระวังอุบัติเหตุที่เกิดจากการออกกำลังกาย จะทำให้สามารถออกกำลังกายได้อย่างมีความสุข

3. การนอนที่มีคุณภาพ นอนดี ชีวิตดี ห่างไกลโรคพาร์กินสันในอนาคต

การนอนหลับที่มีคุณภาพ ถือเป็นอีกปัจจัยหลักที่สามารถช่วยป้องกันโรคความเสื่อมทางระบบประสาท เนื่องจากในขณะหลับร่างกายจะมีกลไกที่ช่วยกำจัดโปรตีนของเสียที่เป็นสาเหตุของโรคความเสื่อมของระบบประสาท การนอนหลับที่ดี ประกอบไปด้วยระยะเวลาการนอนหลับที่เหมาะสม ซึ่งจะขึ้นกับช่วงอายุและคุณภาพการนอนที่ดี คือ สามารถหลับได้ต่อเนื่องครบวงจรของทั้งระยะหลับตื้น หลับลึก และไม่มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในช่วงตื่นนอน เช่น ไม่ง่วงนอนระหว่างวัน มีสมาธิประสิทธิภาพการทำงานที่ดี อารมณ์ดีร่วมด้วย นอกจากนี้อาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการนอนยังเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการนำ (prodromal symptom) ที่สำคัญของการเกิดโรคพาร์กินสัน ได้แก่ อาการนอนละเมอผิดปกติเรื้อรัง (REM sleep behavior disorder, RBD) ดังนั้น การส่งเสริมคุณภาพการนอนที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรปฏิบัติ ประกอบด้วย การมีสุขนิสัยการนอนที่ดี (sleep hygiene) การสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอน เพื่อค้นหาสาเหตุและให้การรักษาอย่างเหมาะสม สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสันหรือกลุ่มที่มีอาการนำ ควรให้ความสำคัญกับการสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคพาร์กินสันมากขึ้น และไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยรักษา ส่วนผู้ป่วยพาร์กินสันนอกเหนือจากแนวทางปฏิบัติแบบประชากรทั่วไป หรือกลุ่มที่มีอาการนำแล้ว ควรต้องสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอนที่มีได้หลากหลายทั้งอาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว และนอกเหนือจากการเคลื่อนไหว เพื่อแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลได้ทราบ และรับประทานยาหรือปรับการรักษาตามที่แพทย์ผู้ดูแลแนะนำต่อไป

สิ่งที่สำคัญของการดูแลสุขภาพสมอง โรคพาร์กินสันไม่ได้มีแค่ยารักษาโรคที่เป็นเม็ดหรือแคปซูลโดยเฉพาะที่สามารถป้องกันโรคพาร์กินสันได้ แต่สิ่งที่ป้องกันโรคพาร์กินสันได้นั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติ 3 เรื่องดังกล่าวข้างตัน สิ่งสำคัญเหล่านี้ต้องปฏิบัติพร้อมกันทันที และต่อเนื่อง  ทางคณะผู้จัดงาน หวังว่าแนวคิดในการเสวนาในครั้งนี้จะเกิดผลบวกต่อสังคมไทยในการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของโรคพาร์กินสัน สังเกตและประเมินอาการถึงความเสี่ยงของตนเองในเบื้องต้น และหากมีข้อสงสัยควรไปพบแพทย์ ซึ่งหวังว่าจะเกิดผลเชิงบวกในการป้องกันโรคพาร์กินสันเรื่อง Eat Move Sleep โดยมีการรับรองผลงานวิจัยที่ได้ผลจริงในเชิงปฏิบัติ
ของสังคมไทย