มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 4 กรกฎาคม 2566
ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันจันทร์ที่ 4 กรกฏาคม 2566 เวลา 09.00 น. ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา พร้อมด้วยสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล ชั้น 1 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทั้งนี้ เพื่อแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้วยพระวิริยอุตสาหะ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนชาวไทย และเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ ในการนำความก้าวหน้าและการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้พัฒนางานด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อันเป็นคุณูปการต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะการทรงงานด้านการวิจัย วิชาการ งานพัฒนาสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
กิจกรรมประกอบด้วย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และผู้แทนส่วนงาน ร่วมลงนามถวายพระพร และถวายพานพุ่มดอกไม้สด ตามลำดับ ผศ. ภาณุภัค โมกขศักดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีไทย ภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขับเสภาถวายพระพรชัยมงคล การฉายวีดิทัศน์เฉลิมพระสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล วงดนตรี KU Wind Symphony นิสิตภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรเลงเพลงมหาชัย
พระราชประวัติ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ปัจจุบันมีพระชนมายุ 65 พรรษา เป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต มีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ
เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์
ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ทรงเข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทรงเลือก เคมีเป็นวิชาเอก เน้นหนักทางอินทรีย์เคมี ทรงได้รับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดีเป็นประจำทุกปี ตลอดระยะเวลา 4 ปีการศึกษาและทรงได้รับคะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาเคมีและชีววิทยา
ปี พ.ศ. 2522 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี เกียรตินิยมอันดับ ๑ คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปี พ.ศ.๒๕๒๘ ทรงสำเร็จการศึกษา ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ( อินทรีย์เคมี ) คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
ปี พ.ศ. ๒๕50 ทรงสำเร็จการศึกษา ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงานวิจัยเรื่อง “Molecular Genetic Studies and Preliminary Culture Experiments of Scallops Bivalve: Pectinidae) in Thailand”
ปี พ.ศ. ๒๕๕7 ทรงสำเร็จการศึกษา หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพทางสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงวิทยานิพนธ์ เรื่อง “Effect of Morphine and Morphine-Tramadol Infusions in Sevoflurane-Anesthetized Dogs.”
Doctor of Philosophy (Toxicology) จาก มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ระดับหลังปริญญาเอก (Post Doctoral) ณ มหาวิทยาลัยอูล์ม ประเทศเยอรมัน เรื่อง Synthesis of Oligonucleotides Using Polymer Support and Their Applications in Genetic Engineering
ด้วยพระปรีชาสามารถในฐานะทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ และนักวิชาการในสาขาอินทรีย์เคมี ชีวการแพทย์ ด้านการเกิดโรคมะเร็งและพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลในหลายวโรกาส อาทิ เหรียญทองไอนส์ไตน์ จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNESCO’s Einstein Gold Medal) เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ โดยทรงเป็นบุคคลที่ ๓ ของโลก และเป็นนักวิทยาศาสตร์สตรีพระองค์แรกที่ได้รับรางวัลนี้
เจ้าฟ้าอัจฉริยคีตศิลปิน
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงสนพระทัยในศิลปะการดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมีพระปรีชาสามารถในการทรงเครื่องดนตรีหลายชนิด อีกทั้งการประพันธ์บทเพลง และการขับร้อง ทรงเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงต่างชาติพระองค์แรกที่ทรงเครื่องดนตรีโบราณ กู่เจิงหรือพิณจีนได้อย่างยอดเยี่ยม
ทูลกระหม่อมอาจารย์
ทรงเป็นทูลกระหม่อมอาจารย์ สอนบรรยายและสอนปฏิบัติเครื่องดนตรีจีนกู่เจิงพระราชทานแก่นิสิตภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ รวมทั้งคณาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยพระองค์เองเป็นแห่งแรก และทรงบรรยายพิเศษให้ความรู้ทางวิชาการแก่นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ คณะประมง คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สืบสานพระราชปณิธาน
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ ในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ จนถึงปัจจุบัน ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงก่อตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยอนาถา” โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยอนาถา โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่วยอนาถาอย่างต่อเนื่อง
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / 4 กรกฏาคม 2566