กสว. และ สกสว. แนะใช้วิจัยและนวัตกรรม ยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

กสว. และ สกสว. แนะใช้วิจัยและนวัตกรรม

ยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

ประธาน กสว. และ สกสว. ร่วมบรรยายพิเศษ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ก่อนการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ พร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนการนำผลการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้เชี่ยวชาญ สกสว. บรรยายพิเศษ “พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ผลการวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (TRIUP Act)” ก่อนการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อแนะนำระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมฯ แผนและงบประมาณด้าน ววน. และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ผลการวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (TRIUP Act) และ การจัดงาน TRIUP Fair 2023 โดยมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และคณะกรรมการ พร้อมด้วยสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยน

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมาเกิดการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมครั้งสำคัญ โดยมีสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อววน.) ทำหน้าที่ในการเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการ อววน. ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนอื่น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล ต่อคณะรัฐมนตรี และพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้าน อววน. ของประเทศ ก่อนกำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติและการขับเคลื่อนนโยบายและการจัดสรรงบประมาณ ให้แก่หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สามารถแข่งขันได้ นอกจากการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแล้ว ยังมีการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นหนึ่งในกฎหมายเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ที่ช่วยปลดล็อกความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม เร่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมของประเทศ โดยคาดหวังให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ และช่วยกันขับเคลื่อน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและยกระดับการพัฒนาและการผลิต ให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตและประชากรมีรายได้สูงขึ้น

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า สกสว.มีภารกิจในการจัดทำแผนด้าน ววน. เพื่อเป็นเครื่องมือกำหนดเป้าหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนา ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม

นอกจากการจัดทำแผนฯ สกสว.ยังมีหน้าที่ในการบริหารและจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. รวมถึงการพัฒนากองทุนววน. ซึ่งปัจจุบันมีความร่วมมือ และ ดำเนินการแล้วทั้งหมด 3 แห่ง คือ 1.มูลนิธิกสิกรไทย 2.กองทุนพัฒนาไฟฟ้า และ 3.มูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งลงนามร่วมกันเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นภาคเอกชนรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 1 พันล้านบาทจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของ สกสว. ในการดำเนินโครงการ ‘กองทุนอินโนเวชั่นวัน’ ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และมีฝีมือด้านเทคโนโลยีให้เติบโตได้ภายในประเทศ และสามารถก้าวไปแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัครวิทย์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ได้มีประกาศในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีกฎหมายลำดับรอง รวมทั้งหมด 14 ฉบับ ที่ทุกภาคส่วนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ทั้งในส่วนขอการให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้เป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่น และหน้าที่ของผู้รับโอนผลงาน การให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากทุนของรัฐในกรณีฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤต และ การให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทน เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจและรับรู้ถึงความสำคัญของ พ.ร.บ. ดังกล่าว สกสว.จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ และภาคีเครือข่ายจัดงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566     (TRIUP FAIR 2023ระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2566 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และการจัดงาน TRIUP Fair ถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้เกิดระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์สามารถเข้าถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรม และเจ้าของผลงานวิจัยได้ง่ายขึ้น อีกทั้งเป็นกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อน พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ให้บรรลุเจตนารมณ์

You May Have Missed!

1 Minute
โรงพยาบาล
สำนักอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
1 Minute
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดพิธีทำบุญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู แจกใหญ่ จัดหนัก กับ แคมเปญ “รวยคูณสอง แจกทอง แจกรถ” ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ชั้นนำ มอบโชคใหญ่ให้ลูกค้าทรู ดีแทค รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพียงสมัครบริการเสริม ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลทันที ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 68
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน