สสส. ปลื้ม นวัตกรรม ‘ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค’ มีผู้รับประโยชน์กว่า 7 ล้านคน เร่งสานพลัง รพ.น่าน เดินหน้าขยายผล ‘ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะฯ น่าน’
นำร่อง ‘รพ.อ่อนหวาน’ ยืนหนึ่งเชี่ยวชาญ NCDs ภายในปี 67 มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตคนน่าน หนุน อสม. สู่นักสร้างเสริมการเรียนรู้ด้านสุขภาวะ ร่วมสื่อสารสุขยั่งยืน
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2566 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ณ โรงพยาบาลน่าน อ.เมือง จ.น่าน คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะผู้บริหาร สสส. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดูงาน “ยินดีจั๊ดนัก รวมพลังสานสุข”
โดย นายระพีพันธุ์ สริวัฒน์ ที่ปรึกษากรรมการกองทุน สสส. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. กล่าวว่า สสส. เริ่มพัฒนา “ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค” มาตั้งแต่ ปี 2558 ถือเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้และส่งเสริมแนวทางการใช้ชีวิตที่มีสุขภาวะให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจากการดำเนินงานมากกว่า 8 ปี ปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาคทั้งสิ้น 18 แห่ง ครอบคลุม 13 เขตบริการสุขภาพ ที่ร่วมขยายผลองค์ความรู้สุขภาวะผ่านกลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงาน/เครือข่ายในระดับพื้นที่ และ มีการพัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้ด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 7,000,000 คน และเกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) หรือนักสร้างเสริมการเรียนรู้ด้านสุขภาวะกว่า 3,000 คน
“สสส. ร่วมมือกับโรงพยาบาลน่าน พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งโรงพยาบาลน่านถือเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในด้านบุคลากรที่มีความรู้ด้านสุขภาพ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่ยังขาดนวัตกรรมชุดความรู้ เครื่องมือในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพให้กับประชาชน สสส. จึงได้สนับสนุนนวัตกรรมเครื่องมือสร้างการเรียนรู้สุขภาวะในประเด็นต่างๆ ทั้งในรูปแบบนิทรรศการ นิทรรศการเคลื่อนที่ (กระเป๋าสื่อการเรียนรู้) พัฒนาทักษะบุคลากรในการสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสุขภาวะที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อาทิ การส่งเสริมสุขภาพด้วยหลัก 3 อ. 2 ส. การออกกำลังกาย “เก้าอี้ขยี้พุง” ส่งผลให้มีผู้สูงอายุมีความรู้เรื่องการเลือกรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย เพิ่มขึ้นกว่า 95% และมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด” นายระพีพันธุ์ กล่าว
นายระพีพันธุ์ กล่าวต่อว่า สสส. เตรียมยกระดับให้ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะฯ โรงพยาบาลน่าน เป็นต้นแบบ “โรงพยาบาลอ่อนหวาน” มุ่งให้ความรู้และการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะประเด็นโรคเบาหวานและอาหารเพื่อสุขภาพ ให้สำเร็จภายในปี 2567 โดยมุ่งสร้างความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในพื้นที่ รวมถึงพัฒนาศักยภาพ อสม. หมอคนที่ 1 เขตเทศบาลเมืองน่าน และเขต รพ.สต.บ้านบุปผารามร่วม100 คน ให้สามารถเป็นวิทยากรระดับตำบลได้ กลายเป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงขยายผลองค์ความรู้สุขภาวะ สร้างความรอบรู้สุขภาพอย่างยั่งยืน
นพ.วสันต์ แก้ววี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน กล่าวว่า จากข้อมูลสุขภาพประชากร จ.น่าน ปี 2565 มีประชาชน 474,095 คน ในจำนวนนี้มีประชากรในเขตโรงพยาบาลน่าน (เขตเทศบาลเมืองน่าน) 17,452 คน เป็นผู้สูงอายุ 5,068 คน เป็นผู้ป่วยโรค NCDs อาทิ โรคความดันโลหิตสูง 3,568 คน เบาหวาน 1,390 คน ไตเรื้อรัง 1,242 คน ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะฯ น่าน เห็นความสำคัญของปัญหา ได้นำนวัตกรรมนิทรรศการเคลื่อนที่ของ สสส. อาทิ ชุดการเรียนรู้ “FOOD & FIT” บอร์ดเกมเรื่องอาหารสุขภาพ “สุขสมวัย” ส่งเสริมสุขภาพจิต มาพัฒนาเป็นกระบวนการเรียนรู้เชิงรุกให้ประชาชนในพื้นที่ อาทิ 1. กลุ่มผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุบ้านหัวเวียงใต้ อ.เมือง จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน 2. อบรมพัฒนาศักยภาพ อสม. เชี่ยวชาญโรคเบาหวาน ส่งผลให้มีผู้รับประโยชน์ 979,553 คน สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดมากกว่า 85% และเกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านกิจกรรมการอบรมความรู้ และใช้เครื่องมือเพื่อขยายผลสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านสุขภาวะ 230 คน ได้แก่ อสม. ครู กศน. ครูโรงเรียนแกนนำชุมชน ทั้งนี้ ได้พัฒนาเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ “บอร์ดเกมเรื่องเบาหวาน” องค์ความรู้ที่นำอาหารพื้นถิ่น มาช่วยสร้างความตระหนักและพัฒนาทักษะในการดูแลสุขภาพของตนเอง
“การมีนวัตกรรมองค์ความรู้ใหม่ที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีรูปแบบที่หลากหลายจาก สสส. ช่วยให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ทำให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะที่ถูกต้อง อาทิ ชุดความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ ที่ทาง รพ.น่านได้ต่อยอดสู่การสร้างทักษะชีวิตในกลุ่มเด็กพิเศษให้กับโรงเรียนน่านปัญญานุกูล ชุดบอร์ดเกม คลิปวิดีโอ กราฟิกสุขภาพ กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ที่โรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน (บ้านสวนตาล) ได้นำไปขยายผลสู่การปฏิบัติจริง โดยพัฒนานวัตกรรมต้นแบบอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพ ลดภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในโรงเรียน ทำให้ได้รับรางวัลระดับประเทศ อาทิ โรงเรียนรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate School) ปี 2565-2568 จากกระทรวงสาธารณสุข ชนะเลิศ “สุดยอดโรงเรียนสุขภาพดี” ระดับประถมศึกษา ปี 2566 จากบริษัท เอไอเอ ประเทศไทย จำกัด ได้เป็นตัวแทนคนไทย เข้าแข่งขันในระดับเอเชียแปซิฟิก ที่มาเลเซีย” นพ.วสันต์ กล่าว
ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น