กรมชลฯโชว์นวัตกรรมจัดการน้ำ-สู้ภัยแล้ง เพิ่มประสิทธิภาพงานวิศวกรรมชลประทาน

กรมชลฯโชว์นวัตกรรมจัดการน้ำ-สู้ภัยแล้ง

เพิ่มประสิทธิภาพงานวิศวกรรมชลประทาน

 

กรมชลประทานโชว์นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำและรับมือภัยแล้ง เพื่อสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมชลประทานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ สกสว.แนะตั้งโจทย์เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด และมีแรงบันดาลใจที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เยี่ยมชมผลงานวิจัยของกรมชลประทาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณงานมูลฐานปีงบประมาณ 2564 จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกว่า 55 ล้านบาท ซึ่งผลงานที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วสามารถสนับสนุนการดำเนินงานด้านวิศวกรรมชลประทานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลงานวิจัยเด่นประกอบด้วย “การศึกษาสารประกอบอินเทอร์คาเลชันในดินเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ดินกระจายตัวในพื้นที่ชลประทาน” โดยนายนิติกรณ์ เชื้อกุณะ นักวิจัยได้พัฒนาเทคนิคใหม่ที่เป็นต้นแบบในการตรวจวิเคราะห์สมบัติด้านการกระจายตัวของดิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในงานก่อสร้างทางชลประทานที่นำดินมาเป็นส่วนประกอบว่าจะไม่เกิดจุดบกพร่องที่ส่งผลให้ชั้นโครงสร้างเสียหายพังทลายในอนาคต ซึ่งเป็นการสร้างองค์ความรู้และฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้ใช้งานได้จริง ง่ายต่องานภาคสนามและปฏิบัติการ

“การบริหารจัดการรองรับภัยแล้งต้นแบบของพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำชลประทานขนาดกลาง 20 แห่ง” โดยนายสุวัฒน์ พาหุสุวัณโณ เพื่อสร้างนวัตกรรมต้นแบบการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือการพยากรณ์และการจัดสรรน้ำ ฐานข้อมูล ความต้องการน้ำของกิจกรรมการใช้น้ำต่าง ๆ สำหรับการตัดสินใจร่วมกับชุมชนผู้ใช้น้ำ อีกทั้งประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ชลประทานของอ่างเก็บน้ำขนาดกลางหรือพื้นที่รองรับภัยแล้ง รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำของชุมชนผู้ใช้น้ำ โดยถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรประมาณ 10,000 คน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีช่องทางสื่อสารกับเจ้าหน้าที่โครงการและเข้าถึงข้อมูลเพื่อตัดสินใจเพาะปลูกพืช ทั้งนี้กรมชลประทานจะขยายผลไปใช้ในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอื่น ๆ ในอนาคต

“การกำจัดวัชพืชน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อลดผลกระทบการสูญเสียน้ำในช่วงฤดูแล้ง” โดย น.ส.อุไร เพ่งพิศ ซึ่งเป็นวัชพืชเป็นอุปสรรคสำคัญที่กีดขวางทางน้ำ นักวิจัยได้ใช้สารกำจัดวัชพืชในพื้นที่ที่แพร่ระบาดอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โดยใช้โดรนฉีดพ่น นอกจากนี้ยังประหยัดงบประมาณ และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารตกค้าง ผลการวิจัยพบว่าสามารถกำจัดผักตบชวา ไมยราบยักษ์ กกกาบประน้อย และจอกหูหนู รวมวัชพืชที่กำจัดได้ประมาณ 11,000 ตัน ลดการสูญเสียน้ำ เพิ่มพื้นที่ผิวน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่าร้อยละ 98 และผู้ใช้น้ำใช้ประโยชน์ได้สะดวกมากขึ้น

ส่วนงานวิจัยที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2565 “การพัฒนาระบบคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง” จำนวน 412 แห่ง โดยนายพีระพงศ์ รัตนบุรี รวมถึงระบบแสดงผลจากการวิเคราะห์ปริมาณน้ำจากแบบจำลองและการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำผ่านเว็บแอปพลิเคชันออนไลน์และโทรศัพท์มือถือ จะช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งและอุทกภัยทั้งในและนอกเขตพื้นที่ชลประทาน มีน้ำต้นทุนเพียงพอในทุกกิจกรรม เพิ่มคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของเกษตรกร ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และโครงการ“การพัฒนาเครื่องมือสำรวจระยะไกลเพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยอันเกิดจากน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง” ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี โดยนายวชิระ สุรินทร์ วางแผนจะขยายผลดำเนินการสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และพื้นที่ลุ่มต่ำบางพลวง จังหวัดปราจีณบุรี รวมถึงสำรวจความสมบูรณ์ของข้าวในแปลงทดลองเพื่อวิเคราะห์ค่าคงที่สมดุลและค่าดัชนีความต่างพืชพรรณพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางเลน จังหวัดนครปฐม

ภายหลังเยี่ยมชมผลงาน ผู้อำนวยการ สกสว.ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การตั้งโจทย์และสมมติฐานตั้งแต่ต้นมีความสำคัญว่าจะดำเนินการวิจัยเพื่อเป้าหมายใด สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ รวมถึงต้องมีแรงบันดาลใจในการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการสูญเสียน้ำ ซึ่งโครงการที่มีผลกระทบสูงสามารถขยายผลต่อไปได้

 

 

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เตรียมจัดงานใหญ่ส่งท้ายปี งานมหกรรม ภูมิพลังแผ่นดิน
1 Minute
กิจกรรมเพื่อสังคม
ไม่สนคำ ว่าทำบุญเอาหน้า…เสี่ยเดย์ นักบุญเจ้าเดิมช่วยการศึกษาอีกกว่า 3 ล้าน
0 Minutes
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดงานวันสถาปนาครบรอบ 53 ปี ชูแนวคิด ทุ่มเทอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างประสบการณ์สุขภาพที่เหนือชั้น เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มการยอมรับและมั่นใจกับผู้มารับบริการ
0 Minutes
โรงพยาบาล
สำนักงานเลขานุการ (กลุ่มงานนิติการ) สำนักการแพทย์ ประชุมคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณ ครั้งที่ 3/2567