มก. ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำ 4 ภาค (ม่อนกระชาย) พัฒนาต้นแบบรถขุดย้ายต้นไม้ใหญ่ด้วยระบบไฮดรอลิก

มก. ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำ 4 ภาค (ม่อนกระชาย)

พัฒนาต้นแบบรถขุดย้ายต้นไม้ใหญ่ด้วยระบบไฮดรอลิก

 

        ปัจจุบัน การขุดล้อมและย้ายปลูกต้นไม้ต้องใช้เทคนิคและความชำนาญเฉพาะ โดยการใช้ “จอบ” ขุดรอบต้นไม้ แล้วใช้ “พลั่วหรือเสียม” แซะดินโดยรอบ ๆ โอกาสที่ดินจะแตกและหลุดออกจากรากก็มีมาก ทำให้รากเกิดการฉีกขาด เมื่อนำไปปลูกจะส่งผลให้ต้นไม้เจริญเติบโตช้า อาจจะชะงัก และตายไปในที่สุด

ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จึงได้ดำเนินการพัฒนา เครื่องมือ/เครื่องจักรกลที่ใช้ขุด-ย้าย-ปลูกต้นไม้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ รุ่นที่ 1 เครื่องขุดย้ายต้นไม้และขุดหลุมปลูก (สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 10231) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ขุดย้ายต้นไม้แบบรถเข็น พัฒนาโดย รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ และคณะ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อใช้ขุดไม้เล็ก ช่วยทุ่นแรงและทำงานได้สะดวกขึ้น และเครื่องขุดย้าย

รุ่นที่ 2 เครื่องขุดย้ายต้นไม้แบบกึ่งอัตโนมัติ (สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 73369) พัฒนาโดย รศ.ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร และคณะ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อใช้ชุดต้นปาล์มประดับ

จนกระทั่งปี 2565 คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงนามความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำ 4 ภาค (ม่อนกระชาย) เพื่อดำเนินการพัฒนาการศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร โดยมีกิจกรรมการพัฒนารถขุดย้ายต้นไม้เป็นหนึ่งในความร่วมมือ ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดจนกลายมาเป็นรถขุดย้ายต้นไม้ รุ่นที่ 3 โดย รศ.ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายมนัส มีพงษ์ แห่งตลาดน้ำ 4 ภาค พัทยา และช่างผู้มีประสบการณ์สร้างและประกอบรถขุดย้ายต้นไม้ (ช่างรถเกี่ยวข้าว)

โดยรถขุดย้ายต้นไม้ที่ร่วมพัฒนานี้ รศ.ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร ได้อธิบายรายละเอียดว่า

“เครื่องขุดย้ายต้นไม้แบบกึ่งอัตโนมัติ ได้พัฒนาต่อยอดจากงานวิจัยของ รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ โดยพัฒนาให้ขุดย้ายต้นไม้โดยใช้ระบบไฮดรอลิกต่อท้ายกับรถแทรกเตอร์ ซึ่งจะช่วยทุ่นแรงและทำงานได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งรถทั้งสองแบบมุ่งเน้นการขุดไม้ล้อมขนาดไม่ใหญ่มากนัก เช่น ต้นปาล์มเพื่อการประดับและตกแต่งภูมิทัศน์ ต่อมาต้องการขุดย้ายต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงพัฒนาร่วมกับคุณมนัส มีพงษ์ เป็นรุ่นที่ 3”

รถขุดย้ายต้นไม้ รุ่นที่ 3 นี้ มีใบพลั่วที่สามารถขุดหลุมดินได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 ซม. และความลึก 80 ซม. สามารถขุดย้ายต้นไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางบริเวณโคนต้นไม้ 10-12 นิ้วได้ รศ.ดร.ศุภกิตต์ อธิบายขั้นตอนการทำงานของรถขุดย้ายต้นไม้ว่า

“เมื่อเริ่มขุดย้ายต้นไม้ เราควบคุมระบบไฮดรอลิกให้เครื่องขุดย้ายต้นไม้ตั้งขึ้น จากนั้นให้ใบพลั่วทั้ง 4 ใบเคลื่อนอยู่ตำแหน่งบนสุด เปิดแขนชุดขุดทั้งสองอ้าออกจากกัน ถอยรถขุดเข้าหาต้นไม้ที่ต้องการ จากนั้นตั้งขาค้ำยันของรถ 6 ล้อ ควบคุมระบบไฮดรอลิกให้เครื่องขุดย้ายเคลื่อนที่ลงทั้งชุดในตำแหน่งที่เหมาะสม วางเครื่องขุดย้ายแนบพื้นดินพอดี ปิดแขนชุดขุดทั้งสองเข้าหากันเพื่อโอบล้อมต้นไม้ที่จะขุด ควบคุมใบพลั่วทั้ง 4 ใบลง ค่อย ๆ กดลงดินทีละน้อย (ควบคุมใบพลั่วในลักษณะทำงานตรงข้ามกัน) กดลงจนสุดใบพลั่ว เพื่อตัดรากของต้นไม้และประกบกันเป็นรูปทรงกรวยอยู่ใต้ดิน โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของตุ้มดินเท่ากับ 100 ซม. และความลึก 80 ซม.”

“จากนั้นควบคุมเครื่องขุดย้ายขึ้นทั้งชุด ต้นไม้พร้อมรากและดินถูกยกขึ้นจากพื้น ปลายพลั่วและต้นไม้ลอยอยู่เหนือพื้นดิน ลำต้นถูกพยุงโดยอุปกรณ์ประคองต้นไม้ สั่งการให้เครื่องขุดย้ายต้นไม้วางตัวลงบนรถ 6 ล้อ เก็บขาค้ำยันของรถ 6 ล้อ จากนั้นค่อยเคลื่อนย้ายไปยังจุดที่ต้องการปลูก”

“การขุดหลุมปลูกก็เช่นเดียวกัน ขุดหลุมให้มีลักษณะเหมือนกับหลุมที่ขุดต้นไม้ทุกประการ จากนั้นวางต้นไม้ลงในหลุมโดยถอยรถ 6 ล้อให้ตรงกับหลุมที่ขุด จากนั้นควบคุมชุดระบบไฮดรอลิกให้เครื่องขุดย้ายต้นไม้ตั้งขึ้น วางต้นไม้ลงในหลุมที่ขุดไว้ พลั่วและดินพร้อมรากต้นไม้ลงไปในหลุม ค่อย ๆ ดึงพลั่วขึ้น (ควบคุมใบพลั่วในลักษณะทำงานตรงข้ามกัน) นำไม้มาค้ำยันเพื่อป้องกันการโค่น หมั่นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ อาจนำฟางมาคลุมโคนต้นเพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำ”

ในการพัฒนารถขุดย้ายต้นไม้ รศ.ดร.ศุภกิตต์ ได้กล่าวถึงส่วนที่พัฒนายากว่า “คือ การประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน รวมถึงการประกอบอุปกรณ์เครื่องขุดย้ายเข้ากับตัวรถด้วย เนื่องจากอุปกรณ์มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ใช้แรงงานคนจำนวนมาก ต้องใช้เครนยกประกอบให้ถูกตรงตำแหน่ง ในขณะทำการประกอบต้องเชื่อมชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน ต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะหากผิดพลาดเพียงนิดเดียวจะส่งผลต่อการทำงาน ความแข็งแรง และความปลอดภัย”

“อีกส่วนคือ การจัดการกับสายไฮดรอลิก เพราะต้องมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอด ดังนั้น การเก็บสาย การเผื่อความยาวสาย จึงมีความสำคัญมาก หากสายพับ สายสั้นไป ยาวไป โดนอุปกรณ์อื่นหนีบสาย หรือสายพันกันจะทำให้เกิดการรั่วและเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นการออกแบบอุปกรณ์เก็บรวบรวมสายจึงมีความสำคัญมาก”

รศ.ดร.ศุภกิตต์ กล่าวว่า “ในการใช้รถขุดย้ายต้นไม้ มีสิ่งที่ต้องคำนึงคือ ในกรณีที่หลุมหรือดินมีความแข็งมาก หรือมีสภาพเป็นลูกรัง ใบพลั่วอาจไม่สามารถขุดลงไปในดินได้  ซึ่งทางแก้คือรดน้ำบริเวณที่ขุดไว้ก่อน รวมถึงผู้วิจัยได้ออกแบบระบบน้ำหล่อลื่นที่ใบพลั่วของรถขุดย้ายต้นไม้ ทำให้ใบพลั่วมีน้ำหล่อลื่นทุกใบ ก็ช่วยให้ขุดได้ง่ายขึ้น และในกรณีเจอรากพืชหรือรากแก้วที่มีขนาดใหญ่แข็งมาก ใบพลั่วก็ไม่สามารถตัดให้ขาดได้ ก็ต้องอาศัยความชำนาญของผู้ควบคุม ใช้วิธีดึงต้นขึ้นมาเพื่อให้รากลอยเหนือดินเพียงเล็กน้อย จากนั้นใช้เสียมตัดรากพืชให้ขาด แล้วค่อยดำเนินการตามขั้นตอนปกติ”

ทั้งนี้ รศ.ดร.ศุภกิตต์ มีแนวคิดต่อยอดพัฒนารถให้สามารถขุดย้ายต้นที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยปรับปรุงใบพลั่วให้มีจำนวนมากขึ้น (6 ใบ) รถยังใช้ต้นกำลังเท่าเดิมและออกแบบระบบที่ช่วยให้การถอยรถตรงกับต้นไม้ได้ง่ายขึ้น

รถขุดย้ายต้นไม้นี้ เป็นอุปกรณ์ทุ่นแรงที่ใช้เครื่องจักรกลช่วย ทำให้สามารถขุดหลุมปลูก ขุดต้นไม้ และเคลื่อนย้ายต้นไม้ไปในตำแหน่งที่ต้องการได้สะดวก รวดเร็วขึ้น เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ขายต้นไม้ นักจัดสวนและปรับปรุงภูมิทัศน์ได้มีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น ช่วยลดต้นทุนแรงงาน ลดเวลาการทำงาน

นับเป็นการต่อยอดพัฒนางานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมมือสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อภาคสังคม ชุมชน และภาคอุตสาหกรรมของไทยเพื่อความกินดีอยู่ดีของคนในชาติ

 

คมสัน วิเศษธร / งานสื่อสารองค์กร มก.

You May Have Missed!

1 Minute
โรงพยาบาล
สำนักอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
1 Minute
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดพิธีทำบุญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู แจกใหญ่ จัดหนัก กับ แคมเปญ “รวยคูณสอง แจกทอง แจกรถ” ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ชั้นนำ มอบโชคใหญ่ให้ลูกค้าทรู ดีแทค รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพียงสมัครบริการเสริม ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลทันที ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 68
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน