บทสรุปการเสวนาเรื่อง “หายนะภาคเกษตรไทย  ใครจะแก้” นักวิชาการถามหาแนวทางและคำตอบจากพรรคการเมือง

บทสรุปการเสวนาเรื่อง “หายนะภาคเกษตรไทย  ใครจะแก้”

นักวิชาการถามหาแนวทางและคำตอบจากพรรคการเมือง

สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ส.มก.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จัดการเสวนาทางวิชาการ  เรื่อง “หายนะภาคเกษตรไทย  ใครจะแก้” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้นำเสนอนโยบายในการแก้ปัญหาหลักของการเกษตรไทย ได้แก่ ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และปัญหาการผูกขาด และรับฟังเสียงสะท้อน  จากนักวิชาการ และประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขที่ตรงจุด โอกาสนี้ นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล นายกสมาคมนิสิตเก่า ส.มก. ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน  ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร กล่าวต้อนรับ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  (อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ)

ทั้งนี้ วิทยากรมาจากพรรคการเมือง 7 พรรค เรียงตามลำดับตัวอักษร ดังนี้  พรรคก้าวไกล ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด , พรรคชาติไทยพัฒนา ดร.กนก  คติการ , พรรคไทยสร้างไทย  นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ , พรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติ  สิทธีอมร , พรรคเพื่อไทย ดร.ปลอดประสพ  สุรัสวดี , พรรคพลังประชารัฐ ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล , พรรคเสรีรวมไทย  นายชูชาติ สุขสวัสดิ์  โดยมีผู้ดำเนินการเสวนา คือ  รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช เริ่มการเสวนา โดยชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรไทยจากข้อมูลเชิงประจักษ์ เน้นถึงปัญหาหลัก 3 ด้าน ได้แก่ หนี้สินครัวเรือนเกษตร ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาการผูกขาดตลาด กล่าวโดยสรุปว่า

ภาคเกษตรไทยกำลังเผชิญกับหายนะในอนาคตอันใกล้นี้ จะเห็นได้จากปัญหาหนี้สินครัวเรือนเกษตรไทยที่มีปริมาณมากและขยายตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค และครัวเรือนเกษตรมีหนี้สินสูงกว่ารายได้สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง ภาคเกษตรไทยมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกจาก 180 ประเทศ ที่เสี่ยงต่อความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนั้น เกษตรกรไทยยังมีการศึกษาน้อย ครัวเรือนเกษตรไทยกว่า 80% เป็นเกษตรกรรายย่อย กำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงวัยและคนหนุ่มสาวออกนอกภาคเกษตร และเข้าถึงระบบชลประทานเพียง 26% ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมด งานวิจัยพบว่า ผลผลิตข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา คาดว่าจะลดลงในช่วงปี พ.ศ. 2589-2598 นอกจากนั้น ครัวเรือนเกษตรไทยยังเผชิญกับการผูกขาดตลาดปัจจัยการผลิตและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่ามีบริษัทเอกชนเพียงไม่กี่รายผูกขาดการซื้อขายปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ อาหารสัตว์ ฯลฯ) และผูกขาดการซื้อขายผลผลิตทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง ตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร นอกจากนี้ สินค้าผลไม้ส่งออกหลายชนิดของไทย กระจุกตัวเพียงบางประเทศเท่านั้นโดยเฉพาะประเทศจีน และปัจจุบันล้งจีนได้เข้ามาครอบงำห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรของไทยหลายชนิด งานวิจัยยังพบว่าการผูกขาดมีความแตกต่างกันเชิงพื้นที่ เช่น ตลาดข้าวมีการผูกขาดมากในภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือ เพื่อไม่ให้ภาคเกษตรไทยไปสู่หายนะและเร่งยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรไทย ว่าที่รัฐบาลใหม่ควรพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังนี้

  1. ให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขแทนการเยียวยาให้เปล่า กล่าวคือ งบประมาณส่วนใหญ่มักถูกใช้ผ่านนโยบายเกษตรแบบประชานิยมเยียวยาให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการช่วยเหลือในรูปแบบให้เปล่าจะลดแรงจูงใจในการปรับตัว และเพิ่มความเสี่ยงในการผลิต
  2. ลดหนี้ครัวเรือนเดิมโดยใช้ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจปัญหาหนี้ของครัวเรือน และออกแบบแรงจูงใจที่เหมาะสม และส่งเสริมตลาดเช่าบริการเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศพร้อมการแข่งขันในพื้นที่ที่เหมาะสม
  3. รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลที่เน้นกลไกตลาด (ไม่ใช่ทำลายตลาด) และส่งเสริมงานวิจัยเพื่อหานวัตกรรมเกษตรเท่าทันภูมิอากาศที่มีศักยภาพของไทยในแต่ละพื้นที่
  4. ลดการผูกขาดตลาดโดยกระตุ้นการแข่งขันที่เป็นธรรมและสร้างความเสมอภาคของโอกาสในการดำเนินธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการรายใหม่ SMEs และบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากนั้น ควรลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศใดประเทศใด และเร่งหาตลาดส่งออกใหม่เพิ่ม

ในการเสวนาครั้งนี้ ทางผู้จัดงานได้เชิญพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาทั้งสามด้านข้างต้น โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมเสวนาทั้งสิ้น 7 พรรคการเมือง ซึ่งผู้แทนแต่ละพรรคการเมืองได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และมีนโยบายแก้ปัญหาในภาพรวมสรุปได้ดังนี้

ด้านปัญหาหนี้สินครัวเรือนเกษตร พรรคการเมืองส่วนใหญ่มีนโยบายในแนวทางเดียวกันโดยการทำให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองและสามารถเข้าถึงแหล่งทุน และเห็นว่าการขยายแหล่งน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทานเป็นเรื่องสำคัญ บางพรรคการเมืองจะปรับนโยบายจากการช่วยเหลือเยียวยาให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไขไปสู่การช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกรและยกระดับประสิทธิภาพการผลิต บางพรรคการเมืองมีนโยบายปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อไม่ให้ปริมาณผลผลิตเกินความต้องการของตลาด ขยายตลาดส่งออก สนับสนุนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง จัดตั้งศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตร สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยเพื่อจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตร ปรับปรุงกลไกการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร เป็นต้น

ด้านปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายพรรคการเมืองมีนโยบายเพิ่มพื้นที่การปลูกป่าเพื่อการเก็บกักคาร์บอน ส่วนมาตรการรับมือนั้น นโยบายแต่ละพรรคจะค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น ให้มีการพยากรณ์อากาศที่เจาะจงกับพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรสามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การขยายพื้นที่ชลประทาน ปรับเปลี่ยนปฏิทินการทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป สนับสนุนการวิจัยหาพันธุ์ใหม่ที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เป็นต้น

ด้านปัญหาการผูกขาดตลาด หลายพรรคการเมืองเสนอว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลายพรรคการเมืองมีแนวนโยบายให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ด้วยตนเองโดยไม่ผ่านคนกลาง และบางพรรคการเมืองมีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรให้พัฒนาเป็นผู้ประกอบการ SME ส่วนปัญหาเรื่องล้งจีนที่เป็นประเด็นกล่าวถึงกันมากในขณะนี้ หลายพรรคการเมืองเห็นว่าควรให้ล้งจีนขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องและภาครัฐต้องเข้ามาช่วยกำหนดโครงสร้างราคาอย่างเป็นธรรม และอาจพิจารณา พ.ร.บ.ควบคุมเฉพาะเพิ่มเติม

 

ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เตรียมจัดงานใหญ่ส่งท้ายปี งานมหกรรม ภูมิพลังแผ่นดิน
1 Minute
กิจกรรมเพื่อสังคม
ไม่สนคำ ว่าทำบุญเอาหน้า…เสี่ยเดย์ นักบุญเจ้าเดิมช่วยการศึกษาอีกกว่า 3 ล้าน
0 Minutes
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดงานวันสถาปนาครบรอบ 53 ปี ชูแนวคิด ทุ่มเทอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างประสบการณ์สุขภาพที่เหนือชั้น เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มการยอมรับและมั่นใจกับผู้มารับบริการ