สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 3

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 3


วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลา 15.00 น. ที่ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 3 The Third Thailand Earth Science Olympiad (The 3rd TESO) โดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 1 – 6 พฤษภาคม 2566 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะผู้บริหาร พร้อมด้วย เลขาธิการมูลนิธิ สอวน. และกรรมการมูลนิธิ สอวน. เฝ้ารับเสด็จฯ


ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร เลขาธิการมูลนิธิ สอวน. เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และ รศ.ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กราบบังคมทูลรายงานการจัดการแข่งขัน จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการแข่งขัน ความว่า การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ เป็นสหวิทยาการ ที่ว่าด้วยธรรมชาติของโลกทั้งระบบ ตั้งแต่การกำเนิด ส่วนประกอบ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ รวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกกับวัตถุต่างๆ ในระบบสุริยะจักรวาล การศึกษาศาสตร์นี้ เป็นการบูรณาการ ผสมผสานความรู้หลายสาขาวิชา โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง การใช้ความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ประยุกต์ รวมถึงคณิตศาสตร์ อาทิเช่น ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา สมุทรศาสตร์ อุทกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ข้าพเจ้าคาดหวังว่า ความมุ่งมั่น และความตั้งใจของ นักเรียนทุกคน จะส่งผลให้นักเรียนสามารถเก็บเกี่ยวความรู้ และนำทักษะไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อพัฒนา ตนเอง และเป็นกาลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต”

จากนั้น ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการทางวิชาการ ประกอบด้วยนิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์อุปถัมภ์มูลนิธิ สอวน. ในวโรกาสครบรอบ 100 พรรษาชาตกาล และได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้ เป็นบุคคลสำคัญของโลก นิทรรศการความเป็นมาของศูนย์วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ คณะวิทยาศาสตร์ นิทรรศการงานวิจัย ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ที่มุ่งเน้นการประเมินสถานภาพทรัพยากรและแนวทางการจัดการลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติ อาทิ การทำนายการแพร่กระจายของไฟป่า การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน การค้นพบซากดึกดำบรรพ์หอยฝาเดียวชนิดใหม่ของโลก การศึกษาระบบรอยเลื่อนมีพลังของประเทศไทยเพื่อลดผลกระทบจากแผ่นดินไหว เป็นต้น


การแข่งขัน “วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ” ครั้งที่ 3 The Third Thailand Earth Science Olympiad (The 3rd TESO) จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและกระตุ้นให้มีการพัฒนาหลักสูตร และมาตรฐานของระบบการเรียนการสอนวิชาสาขาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ซึ่งเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คือ วิชาธรณีวิทยา วิชาปฐพีวิทยา วิชาสมุทรศาสตร์ วิชาอุตุนิยมวิทยา วิชาอุทกศาสตร์ และวิชาดาราศาสตร์ ให้ทัดเทียมนานาประเทศ ทำให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันเกิดความรักและสนใจที่จะมุ่งเน้นศึกษาทางด้านสาขาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับอุดมศึกษา อีกทั้งยังจะประกอบอาชีพทางสาขาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องในอนาคต โดยคัดเลือกจากนักเรียนที่เป็นตัวแทนจากศูนย์ฯ สอวน. ทั้ง 7 ศูนย์ทั่วประเทศ ให้เป็นตัวแทนประเทศไทย จำนวน 4 คนเข้าร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 16 ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-26 สิงหาคม 2566 โดย International Geoscience Education Organisation (IGEO)เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังจะทำให้คณาจารย์จากศูนย์ สอวน. ทุกศูนย์ ได้มีประสบการณ์ร่วมกันในการเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพ จัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ โดยมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการเรียนการสอน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการอบรมทางวิชาการให้ดียิ่งขึ้น และยังสร้างโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทางความคิดของนักเรียน ตัวแทนครูจากโรงเรียน และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 42 คน


การแข่งขันในครั้งนี้จัดขึ้นที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างวันที่ 1 – 6 พฤษภาคม 2566 เป็นการแข่งขันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ว่าด้วยธรรมชาติของโลกทั้งระบบโดยวันที่ 3 พ.ค. 66 เป็นการแข่งขันการสอบความรู้ภาคทฤษฎี วันที่ 4 พ.ค. 66 สอบความรู้ภาคปฏิบัติการ วันที่ 5 พ.ค. 66 ศึกษาภาคสนาม (งานกลุ่ม) เพื่อสรุปความรู้และคัดเลือกให้ได้รับรางวัลโครงงานระบบวิทยาศาสตร์โลก โดยพิธีปิดการแข่งขันจะจัดขึ้นในวันที่ 6 พ.ค. 66 ณ ห้องประชุมสุมินทร์ สมุทคุปติ์ อาคารวิทยาศาสตร์ 45 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการประกาศผลการแข่งขัน มอบเหรียญรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง พร้อมเกียรติบัตร และรางวัลพิเศษสำหรับผู้ทำคะแนนทฤษฎีสูงสุด คะแนนปฏิบัติการสูงสุด คะแนนรวมสูงสุด และคะแนนรวมสูงสุดภูมิภาค พร้อมส่งมอบธงศูนย์เจ้าภาพจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 4 ให้กับศูนย์ สอวน.วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ครั้งที่ 4 ต่อไป โดยมี รศ.ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และ ประธานศูนย์ สอวน.วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีปิดการแข่งขัน

ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์