โหมโรงก่อนเลือกตั้ง เปิดวิสัยทัศน์ด้านเกษตร สื่อมวลชนเกษตรจัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ 5 พรรคการเมือง นโยบายด้านเกษตรพรรคไหนจะโดนใจเกษตรกร

โหมโรงก่อนเลือกตั้ง เปิดวิสัยทัศน์ด้านเกษตร สื่อมวลชนเกษตรจัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ 5 พรรคการเมือง นโยบายด้านเกษตรพรรคไหนจะโดนใจเกษตรกร

สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ “นโยบายด้านการเกษตร” ของพรรคการเมือง ผ่านสื่อมวลชน นโยบายพรรคไหน?…จะโดนใจเกษตรกร เมื่อวันที่ 26 เมษายน ณ ห้องสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ และมี 5 พรรคการเมืองตอบรับ ร่วมประชันวิสัยทัศน์ อาสาแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคก้าวไกล

สำหรับนโยบายด้านการเกษตรกรของพรรคประชาธิปัตย์ : นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคยืนอยู่บนนโยบายเกษตรกรเข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายหลักอันดับแรก คือมุ่งให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจส่งออกอาหาร 1 ใน 10 ของโลก จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับ 13 เป้าหมายหลักอันดับที่สอง คือเกษตรกรจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น 100% และเป้าหมายหลักอันดับที่สาม คือการเพิ่มจีดีพีภาคเกษตรจาก 8.5% เป็น 10% โดยสร้างฐานรายได้ใหม่ และสร้างฐานแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตรใหม่ ส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร 18 กลุ่มจังหวัด โดยตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจการเกษตรทั่วประเทศ เน้นทั้งเกษตรอาหาร เกษตรพลังงาน เกษตรท่องที่ยว และเกษตรสุขภาพ เพื่อเปลี่ยนเกษตรดั้งเดิมให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ มีรายได้สูง ยกระดับจากเมืองเกษตรเป็นเมืองอาหาร

นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องสร้างฐานตลาดใหม่ ยกระดับราคาสินค้าเกษตร เพิ่มในส่วนของตลาดออนไลน์ ตลาดประมูลทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ขยายตลาดใหม่ ๆ สร้างฐานสินค้าใหม่ สร้างแบรนด์สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ และสร้างฐานแปลงเกษตรใหม่ ยกระดับเกษตรแปลงใหญ่เป็น 10,000 แปลง จากปัจจุบัน 3,000 แปลง และเพิ่มเกษตรแม่นยำจาก 2 ล้านไร่ เป็น 5 ล้านไร่ ต่อยอดประกันรายได้ในพืชหลัก รวมทั้งนโยบายฟรีนมโรงเรียน 365 วัน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม สนับสนุนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นอย่างน้อย 2,800 กลุ่ม ๆ ละ 100,000 ต่อปี พร้อมเพิ่มธนาคารหมู่บ้านและธนาคารชุมชนแห่งละ 2 ล้านบาท และส่งเสริมสินเชื่อเงินออมชนบท ขณะเดียวกันจะปลดล็อก พ.ร.ก.ประมง ภายใต้กติกาไอยูยูใน 90 วัน พร้อมตั้งสภาการประมง และกองทุนประมง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประมงทุกระดับ ออกกรรมสิทธิที่ดินให้เกษตรกรในที่ดินของรัฐทุกประเภท กระจายการถือครองที่ดิน ปฎิรูปที่ดิน ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน มีค่าตอบแทนให้อาสาสมัครเกษตรเดือนละ 1,000 บาท พักหนี้ 4 ปี ปฏิรูป ธ.ก.ส. ปฏิรูประบบสินเชื่อ เงินฝาก ดอกเบี้ย พัฒนากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และกองทุนอื่น ๆ

ส่วนนโยบายด้านการเกษตรกรของพรรคเพื่อไทย : นสพ.ชัย วัชรงค์ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า นโยบายพรรคจะเน้นการผ่าตัดปรับโครงสร้างภาคเกษตร โดยใช้หลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม” เปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นเกษตรก้าวหน้าสมัยใหม่ โดยใช้ตลาดนำการผลิต เปลี่ยนจากการทำเกษตรที่มีรายได้น้อย มาทำเกษตรรายได้สูง ผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ที่ทุกปีจะต้องอาศัยการนำเข้า รวมถึงโคเนื้อที่ตลาดมีความต้องการมากปีละ 4-5 ล้านตัว แต่ไทยไม่มีนโยบายเพิ่มผลผลิต ขณะดียวกันก็เพิ่มระบบชลประทานให้ทั่วถึง จากปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานครอบคลุมเพียง 22 ล้านไร่ จากพื้นที่การเกษตร 140 ล้านไร่

ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกษตรกรจับมือกับภาคเอกชนหรือนักเกษตรรุ่นใหม่ ทำเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ตั้งเป็นรูปแบบบริษัท ให้เกษตรกรเป็นผู้ถือหุ้น จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า แบ่งกำไรเป็น 3 ส่วน เกษตรกรได้ 50% บริษัทได้ 40% ส่วนอีก 10% เป็นของท้องถิ่น พร้อมทั้งสามารถแปลงสินทรัพย์มาเป็นทุน แปลงที่ ส.ป.ก.เป็นโฉนดได้ โดยตั้งเป้าออกโฉนด 50 ล้านไร่

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทย ยังมีนโยบายให้ลดการผลิตสินค้าที่มีมากเกินไป เช่น ข้าว แต่ให้เป็นไปตามความสมัครใจ โดยจะทำให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นได้ 3-5 พันบาท แล้วนำพื้นที่ไปปลูกพืชราคาสูง เช่น ทุเรียน ให้ได้ 1 ล่านไร่ ตั้งโครงการ 1 ตำบล 1 โรงปุ๋ย โดยมีเงินกู้ปลอดดอกเพื่อจัดซื้อเครื่องมือที่ทันสมัย รวมทั้งตั้งเกณฑ์ KPI เพื่อประเมินการทำงานของข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งตั้งเป้าจีดีพีภาคเกษตรต้องขยายตัวปีละ 5-10 % หากไม่ได้ตามเป้า ปลัดกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีแต่ละกรมต้องร่วมรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังเตรียมตั้งกองทุนรองรับปัญหาโลกร้อน โดยการตั้งงบประมาณแก้ปัญหาโรคอุบัติใหม่ ชนิดละ 1,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ เพื่อเพิ่มรายได้ ให้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี

สำหรับ นโยบายด้านการเกษตรกรของพรรคไทยสร้างไทย : นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ กรรมการบริหารพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทยจะปรับโครงสร้างให้เกิดการสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดยเน้นที่พืชเศรษฐกิจหลัก เริ่มจากข้าว ซึ่งเป็นพืชที่สร้างผลกระทบกับเกษตรกรมากที่สุด เพราะมีอุปทานเหลือจากการส่งออกมากถึงปีละ 3-4 ล้านตัน ซึ่งหากลดผลผลิตข้าวลงได้ ราคาข้าวจะเป็นไปตามกลไกตลาด ขณะเดียวกันก็ต้องขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับขยายทั้งปริมาณและชนิดสินค้าให้เพิ่มขึ้น มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เน้นพืชสมุนไพรและพืชพลังงาน พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร

นอกจากนี้ไทยสร้างไทยยังมีนโยบายทำบ่อเพื่อเก็บน้ำสำหรับทุกครัวเรือน รวมทั้งขุดบ่อบาดาล ประปาหมู่บ้าน ติดโซลาร์เซลล์เพื่อสูบน้ำ พร้อมกับดำเนินโครงการโขง (เลย)-ชี-มูล โดยใช้งบประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อเติมน้ำให้กับภาคอีสาน ขณะเดียวกันจะจัดทำกองทุนเพื่อคนตัวเล็ก เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน สำหรับการทำโซลาร์เซล และใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร ภายใต้เงื่อนไขเกษตรกรต้องเรียนรู้ก่อน ขณะเดียวกันก็มีนโยบายให้สามารถจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม หรือ ส.ป.ก. ได้ ส่วนที่ดินภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภ.บ.ท. 5 จะพิจารณาการใช้ประโยชน์ตามพื้นที่ โดยจัดเป็นโซนจัดสรร โซนแปลงใหญ่ โซนปลูกป่า และโซนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศตามความเหมาะสม ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่ไปกับการส่งเสริมใช้เทคโนโลยี และเพิ่มขยายตลาดต่างประเทศ โดยมีผู้นำประเทศและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่เสมือนเป็นเซลล์แมนหาตลาด ทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่

นโยบายด้านการเกษตรกรของพรรคพลังประชารัฐ : ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล กรรมการจัดทำนโยบายพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่าพรรคพลังประชารัฐมีแนวคิดแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรโดยการเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตรใหม่ให้เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมมากเพิ่มขึ้น โดยการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยเฉพาะด้านพลังงานที่ได้จากพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง เป็นต้น เพื่อยกระดับราคาสินค้าเกษตร ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มรองรับตลาดสีเขียว ควบคู่ไปกับการลดหนี้ให้แก่เกษตรกร ด้วยการเติมเงินลงทุนให้เกษตรกรครัวเรือนละ 30,000 บาท เพื่อสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิต ลดต้นทุน และผลิตสินค้าคุณภาพ ขณะเดียวกันจะมีการตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยยูเรียตามแนวท่อแก๊ส ก่อนกระจายทั่วประเทศ พร้อมกับสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยสั่งตัด กำหนดมาตรการปุ๋ยคนละครึ่ง เพื่อให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยใช้เองในประเทศ เป็นการลดปัญหาต้นทุนปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูง

นโยบายด้านการเกษตรกรของพรรคก้าวไกล : นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคตพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมีนโยบายให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุนและที่ดิน โดยจะแก้ปัญหาทั้งที่ดิน ส.ป.ก.และที่ดินทับซ้อน ด้วยกองทุนพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ภายใน 4 ปี ซึ่งกองทุนนี้จะผลักดันให้การทำงานพิสูจน์สิทธิ์ และจัดสรรที่ดินประเภทต่าง ๆ สามารถทำได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องมีอาชีพเสริมระหว่างการทำเกษตร ส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ในด้านการต่างประเทศจะต้องทำในชิงรุก สร้างความเป็นธรรม และเอาจริงเอาจังกับปัญหาในทุกจุด ขณะที่องค์กรท้องถิ่นเมื่อถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ ก็ต้องมีบทบาทมากขึ้น โดยองค์กรที่เล็กที่สุดจะได้รับงบเพิ่มอีกแห่งละ 20 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีนโยบายปลดหนี้ให้เกษตรกร โดยเกษตรกรที่เป็นหนี้ จะมีการเข้าไปช่วยเหลือโดยอาจจะเช่าที่ดินนั้น ๆ ที่ติดจำนองอยู่ เพื่อให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น และไม้เศรษฐกิจ หรือไม้ผลที่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ภายใต้เงื่อนไขรัฐบาลจะเคลียร์หนี้ให้ และคืนที่ดินพร้อมผลผลิตให้หลังจากครบ 20 ปี หรือระยะเวลาที่กำหนด ขณะเดียวกันก็มีการลงทุนโซล่าเซลล์เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า รวมถึงเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้มากขึ้นและทั่วถึงทุกจุด สร้างพื้นที่ระบายน้ำ ปรับกติกาสำหรับพื้นที่รับน้ำ กำหนดระยะเวลา การจ่ายเงินชดเชย และทำให้ระยะเวลาที่น้ำท่วมน้อยลง นอกจากนี้จะดูแลเกษตรกรในเรื่องปุ๋ยสั่งตัด พร้อมทั้งสนับสนุนเรื่องเครื่องจักรทางการเกษตร อัตราดอกเบี้ย 0% ด้วย

นอกจากนโยบายด้านเกษตรของแต่ละพรรคที่นำเสนอบนเวทีแล้ว ยังมีคำถามสำคัญจากเกษตรกรในเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการแบนสารเคมีเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต และแม้จะมีสารทดแทนแต่ก็มีราคาสูงมาก โดยผู้แทนพรรคก้าวไกลได้นำเสนอแนวคิดว่าหากยังไม่เลิกการแบนสารเคมีเกษตร ก็จะต้องทำให้ต้นทุนของสารเคมีที่มาทดแทนเป็นต้นทุนเดียวกันกับสารตัวเดิม ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนในส่วนต่างจนกว่าจะทำให้สารทดแทนมีต้นทุนที่ถูกลงได้ และควรส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลเกษตร

ด้านผู้แทนพรรคไทยสร้างไทย นำเสนอแนวคิดที่จะหาสารทดแทนที่มีราคาไม่แพง แต่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงหรือดีกว่า อย่างไรก็ตามยังคงให้ความสำคัญกับงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้พาราควอต โดยเฉพาะในดินทราย เพื่อใช้อ้างอิงในการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับการใช้สารเคมีต่อไป อย่างไรก็ตามหากจำเป็นต้องมีการใช้สารทดแทนที่มีราคาสูง รัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องสนับสนุนส่วนต่างให้แก่เกษตรกร ซึ่งพรรคมีนโยยบายสนับสนุนการทำแปลงใหญ่เพื่อใช้เครื่องจักรกลการเกษตรควบคู่กับการเขตกรรม ในการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร

ด้านผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันยังสนับสนุนนโยบายเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในระยะยาวจะเป็นกระแสหลักของโลกและประเทศไทย แต่การแบนสารเคมีเกษตร และการที่สารทดแทนมีราคาสูงนั้น รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบเพราะเป็นผู้ดำเนินนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร อย่างไรก็ตามพรรคยังคงมีนโยบายส่งเสริมให้มีระบบเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรมีการใช้เครื่องจักรกลเกษตร และมีระบบบริหารจัดการผลิต โดยจะอุดหนุนเกษตรกรแปลงใหญ่ 3 ล้านบาทต่อกลุ่ม

ด้าน ผู้แทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าเรื่องการแบนสารเคมีเกษตรนั้นเป็นฉันทามติของรัฐสภา และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นการมองถึงด้านสุขภาพมากกว่าต้นทุนผลิต และพรรคเพื่อไทยน้อมรับมตินั้น อย่างไรก็ตามเมื่อการสารเคมีเกษตรส่งผลกระทบกับเกษตรกรจำนวนมาก พรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายเห็นพ้องว่ารัฐบาลจะต้องมีการสนับสนุนส่วนต่างในสารเคมีทดแทน อาจจะระดับ 70:30 หรือ 80:20 เพื่อให้เกษตรกรมีผลกระทบน้อยที่สุด และหากจะเดินหน้าในแนวทางนี้เพื่อไทยก็มีนโยบายจะสนับสนุนทุนวิจัยในการหาสารทดแทนอย่างเต็มที่

ด้านผู้แทนพรรคพลังประชารัฐ นำเสนอแนวทางการนำพืชเกษตรมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นสารกำจัดศัตรูพืช โดยยกตัวอย่างมันสำปะหลัง ที่นำมาผลิตเป็นเอธานอลและมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอในมติคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้วในพืชปาล์มน้ำมัน ที่จะมีการนำไปผลิตเป็นสินค้าปลายทาง 8 ชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สารกำจัดวัชพืช และสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช