ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ จัดเสวนาประจำปีให้ความรู้ “สบายสมอง Strong & Healthy”
วันที่ 12 มี.ค.66 ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดเสวนาประจำปี ในหัวข้อ “สบายสมอง Strong & Healthy” ร่วมกับงานสัมมนาของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ห้องประชุมกิ่งเพชร ชั้น 3 โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กทม. โดยกิจกรรมนี้ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับฟังการเสวนาเรื่อง “โรคสมอง” อีกทั้งมีบริการให้คำปรึกษาภายในงาน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และพบกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุทา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งจะมาให้ความรู้ดี ๆ กลับไปดูแลตนเอง และคนที่รัก
- ทำไมต้อง “สบายสมอง Strong & Healthy”
การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่21 ภายในเวลาอีกไม่ถึง 30 ปี สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ หมายความว่าจะเหลือประชากรวัยทำงานที่จะสามารถดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่เพียงพอ โรคที่มากับความชรา มีทั้งโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคสมองเสื่อม ซึ่งแม้จะมีวิธีป้องกันและรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับสองตัวอย่างแรก แต่ยังไม่มีการส่งเสริมการป้องกัน ชะลอโรคสมองเสื่อมที่ยังพอเป็นมาตรฐาน ทำให้มีการคาดคะเนว่า ในเวลาอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีสมองเสื่อมที่มีอาการชัดหลายล้านคน นับเป็นภาระทางเศรฐกิจและสังคมที่สำคัญ
ในระดับบุคคล สมองเสื่อมเป็นภัยคุกคามต่อความผาสุกและสุขภาวะ เพราะผู้ป่วยที่สมองค่อยๆ เสื่อมไม่ใช่แค่ทรัพย์สินที่เสียไปหรือความเหนื่อยล้าของผู้ดูแล แต่เป็นความทรงจำที่จะไม่มีวันกลับมา ความทรงจำของความภาคภูมิใจในความสำเร็จ ความทรงจำของความสุขที่ผ่านพบ ความรักความห่วงใยที่มีให้กับครอบครัว ข้าวทุกมื้อ เสียงหัวเราะ หรือแม้แต่อัตตาตัวตนและบุคลิกภาพที่สั่งสมมาก็ถูกปล้นไปอย่างไม่เหลือชิ้นดี อีกทั้งโรคนี้ยังเกิดได้กับทุกๆ คน และพบได้ถึง
หนึ่งในสิบในประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และถ้าอายุยืนยาวถึง 85 ปีก็จะมีโอกาสหนึ่งในสามที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม โรคสมองเสื่อมไม่ใช่ภาวะปกติที่ทุกคนจะต้องเป็นตามธรรมชาติเมื่อแก่ชรา หากแต่เป็นเพียงโรค หนึ่งที่ป้องกันได้ หากเรา
เข้าใจกลไกของโรคมากพอ หากเรามีองค์ความรู้ว่าจะส่งเสริมการเจริญวัยของสมองที่ดี (healthy brain ageing) ได้อย่างไร
โรคสมองเสื่อมมีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์กว่าสองในสาม ส่วนสาเหตุอื่นๆ ก็มักเป็นโรคที่มีคุณสมบัติทางชีววิทยาคล้ายคลึงกัน โรคเหล่านี้เริ่มก่อตัวในสมองของผู้ป่วยตั้งแต่ผู้ป่วยยังมีสติปัญญาที่เฉียบแหลม และใช้เวลาพัฒนามากกว่า15 ปี กว่าผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการแรกๆ ซึ่งมักจะเป็นอาการหลงลืมเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจดูเหมือนการหลงลืมธรรมดาตามวัย หากแต่ต่อมาอีกไม่นานโรคก็จะค่อยๆ ทวีความรุนแรงทำให้อาการทวีขึ้นตามอย่างเห็นได้ชัด จากหลงลืม เริ่มสับสน หลงทาง หลงผิด พฤติกรรมแปลก ประสาทหลอน ฯลฯ ทั้งนี้ เพราะเซลล์สมองค่อยๆ ตายลงในอัตราที่ผิดปกติจนเหลือเพียงน้อยนิดทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติได้ และก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มียาหรือการรักษาชนิดใดที่มีประสิทธิภาพเมื่อโรคดำเนินมาถึงระยะนี้แล้ว
การที่กระบวนการเกิดโรคเหล่านี้ก่อตัวขึ้นก่อนเริ่มแสดงอาการนานกว่า 15 ปี หมายความว่า หากเราสามารถตรวจพบโรคเหล่านี้ได้ในระยะฟักตัวของมัน กล่าวคือ ในระยะที่ยังไม่มีอาการและยังไม่มีการสูญเสียของเซลล์สมองมาก เราก็จะ
สามารถป้องกันโรคเหล่านี้ได้ ด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้เกิดสมองเสื่อม อาทิเช่น รักษาความดันโลหิต ออกกำลังกาย เลิกบุหรี่ หลีกเลี่ยงยาที่เร่งให้เกิดสมองเสื่อม และที่สำคัญคือ อาหาร เข้าใกล้มังสวิรัติ โดยที่อีกภายใน 1-2 ปี
จะมียาที่รักษาได้ การตรวจพบโรคในระยะฟักตัว มีประโยชน์ทั้งกับตัวผู้ป่วยและครอบครัวไปจนถึงระบบสุขภาพของประเทศและเป็นข้อมูลที่ทำให้มีการเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างเหมาะสม
ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้ริเริ่มแผนพัฒนาเชิงรุกสบายสมองอินิชิเอทิฟส์ เปิดให้บริการการตรวจโรคอัลไซเมอร์จากเลือดด้วยเทคโนโลยี SIMOA (single molecule array) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยพัฒนาจนได้ระดับชี้วัดมาตรฐานของคนไทยจากกาทดสอบกับการตรวจด้วย MRI/PET scan และ/หรือการตรวจวัดจากการเจาะน้ำไขสันหลัง โดยมีการเผยแพร่ในวารสาร Alzheimer’ s and Dementia 2 ฉบับในปี 2022-2023 และในรายงานอื่นๆ อีก นอกจากการตรวจเลือดที่ระบุว่ามีโปรตีนก่อตัวแล้วหรือไม่ และรุนแรงเพียงใด ซึ่งสามารถควบรวมกับการตรวจแบคทีเรียหลายพันล้านตัวใน
ลำไส้จากการตรวจอุจจาระเพื่อนำไปสู่การปรับอาหาร เพื่อลดการอักเสบที่จะทำร้ายร่างกายและสมอง และยังสามารถวัดระดับการอักเสบ ชนิด และระบบต่างๆ ในเลือดได้อย่างแม่นยำ
เราไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุได้ แต่เราสามารถจำกัดผล กระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ หากการวิจัยและพัฒนามุ่งเน้นสุขภาพสมอง การเจริญวัยของสมองคือการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาที่สามารถเบนเบี่ยงไปในทิศทางที่ดีได้ หากมีองค์ความรู้มากพอว่าต้องทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร และกับใคร การศึกษาค้นคว้าจึงถือเป็นเรื่องที่เร่งด่วน ทุกนาทีมีค่า โดยเพาะอย่างยิ่ง สำหรับประชากรวัยกลางคนหลายล้านคนในประเทศไทยและอีกหลายสิบล้านคนทั่วโลกที่มีโรคอัลไซเมอร์กำลังฟักตัวอยู่ วิทยาศาสตร์อาจเป็นวิธีทางเดียวที่สังคมมนุษย์จะรอดจากภัยคุกคามเหล่านี้ได้