เปิดตัวสายพันธุ์ใหม่ มะเขือเทศสีดาทิพย์ ต้านทานโรคใบหงิกเหลือง

เปิดตัวสายพันธุ์ใหม่ มะเขือเทศสีดาทิพย์ ต้านทานโรคใบหงิกเหลือง

 


มะเขือเทศบริโภคผลสด กลุ่มมะเขือเทศสีดา เป็นมะเขือเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากมีการใช้มะเขือเทศสีดาผลสุกเป็นส่วนประกอบของอาหารประเภทส้มตำ ยำ และอาหารคาวหลากหลายชนิด ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน (TVRC) ได้มีการเก็บรวบรวมพันธุ์มะเขือเทศและขยายเมล็ดพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์อย่างยั่งยืน และดำเนินการพัฒนามะเขือเทศสีดา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 จนถึงปัจจุบัน โดยทางศูนย์ TVRC ได้ส่งเสริมสายพันธุ์มะเขือเทศสีดาทิพย์ 1, สีดาทิพย์ 2, สีดาทิพย์ 3, และ สีดาทิพย์ 4 ให้แก่เกษตร แต่อย่างไรก็ตามสายพันธุ์เหล่านี้ยังมีข้อเสีย คือ อ่อนแอต่อโรคใบหงิกเหลือง ส่งผลให้ได้ผลผลิตลดลง รายได้ของเกษตรกรลดลง ดังนั้นทางศูนย์ TVRC จึงได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศสีดาทิพย์ ให้ต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลือง เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะคล้ายพันธุ์เดิมและต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลือง รวมทั้งให้ผลผลิตสูงเทียบเท่าพันธุ์การค้า จากการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศสีดาทิพย์มาอย่างต่อเนื่อง และได้ใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอ (DNA marker) ช่วยในการคัดเลือกพันธุ์มะเขือเทศที่มียีนต้านทานโรคใบหงิกเหลือง จึงได้พันธุ์มะเขือเทศสีดาทิพย์ที่ต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลือง จำนวน 40 สายพันธุ์ ได้แก่  สายพันธุ์แท้ สีดาทิพย์ 6-1 ถึง สีดาทิพย์ 6-20 จำนวน 20 สายพันธุ์ และ สายพันธุ์ลูกผสม (F1) สีดาทิพย์ KUKPS-01 ถึง KUKPS-20 จำนวน 20 สายพันธุ์

พันธุ์มะเขือเทศสีดาทิพย์ทั้ง 40สายพันธุ์ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองพืชพันธุ์ใหม่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เรียบร้อยแล้วและเพื่อเป็นการแสดงลักษณะสายพันธุ์มะเขือเทศสีดาทิพย์ที่ได้ปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ ทางศูนย์ TVRC จึงได้จัดโครงการแปลงสาธิตสายพันธุ์มะเขือเทศสีดาทิพย์ระหว่างวันที่ 13-28 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม