มก. ได้ตัวชี้วัด “ความสุข” ผลสัมฤทธิ์จากการจัดงานเกษตรแฟร์ 2566 พร้อมเป็นศูนย์กลางตลาดการเกษตรของชาติไทย

มก. ได้ตัวชี้วัด “ความสุข” ผลสัมฤทธิ์จากการจัดงานเกษตรแฟร์ 2566

พร้อมเป็นศูนย์กลางตลาดการเกษตรของชาติไทย

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นการจัดงานเกษตรแฟร์ วันสุดท้าย ของปี 2566 ซึ่งมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “80 ปี เกษตรนนทรี นำวิถีใหม่ ไทยยั่งยืน“ โดยมีกิจกรรมมากมาย ทั้งการถ่ายความรู้นวัตกรรมผลงานวิจัยทางการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การประกวดแข่งขันทางการเกษตร การสาธิต การเปิดคลินิกให้คำปรึกษาด้านพืช สัตว์ ประมง สาธารณสุข วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การออกร้านค้าของนิสิต ผู้ประกอบการ ร้านค้าของสถานเอกอัครราชทูต ร้านค้าของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ต่าง ๆ

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความสำเร็จของการจัดงานเกษตรแฟร์ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้น รวม 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 3 -11 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า “ ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนนะครับที่ได้มาช่วยกันสร้างสรรค์งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2566 เพื่อ ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี แห่งการจ่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ความสำเร็จที่สำคัญจากการจัดงานครั้งนี้ ก็คือ การได้เห็นเกษตรกร ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ ยิ้มแย้มหน้าตาแจ่มใสมีความสุข ส่วนใหญ่ขายสินค้ากันหมดเกลี้ยงแทบจะไม่มีเหลือ นั่นก็คือความสำเร็จที่อยากจะให้ประชาชนได้มีโอกาสจำหน่ายสินค้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เราเองจะเป็นตลาดให้กับประเทศชาติ หรือ KU as a market place ซึ่งก็ทำได้ผลมีคนมาร่วมงานมากมายเป็นล้านคน  มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สนใจมาร่วมงานกับเรา ได้แก่  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. สินค้าจาก U2T กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวมทั้ง กรมราชทัณฑ์เอง ก็นำสินค้าฝีมือชั้นเยี่ยมจากผู้ต้องขังมาจำหน่าย บางสินค้าก็เป็นสินค้าที่จำหน่ายค่อนข้างยาก ก็สามารถมาจำหน่ายที่นี่ได้ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากพี่น้องประชาชน โดยรวมแล้วก็เห็นว่าทุกภาคส่วน รวมทั้งนิสิตสามารถทำกิจกรรมแล้วก็เป็นผู้ประกอบการที่ดีได้ในงานเกษตรแฟร์ ซึ่งมีการจัดงานทั้งในพื้นที่จัดงาน ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และในระบบออนไลน์ Kasetfair.ku.ac.th ที่มีคนเข้ามาเยี่ยมชมนับหมื่นคน

นอกจากนี้ ผมก็ได้เห็นว่าประชาชนนั้นมีความสุข ที่ได้มาเห็นทั้งนวัตกรรม และได้มาเห็นทั้งความสนุกสนาน  ความบันเทิง  นิสิตได้ออกนอกชั้นเรียน มาทำกิจกรรม คณาจารย์ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี คณะ หน่วยงานต่างๆ ก็นำนวัตกรรมจากงานวิจัย มีการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการ  เกษตรกร และบุคคลทั่วไปที่สนใจในทุกมิติ  ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

งานเกษตรแฟร์ เป็นการเปิด “บ้าน” บ้านของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เป็นมหาวิทยาลัยของทุกคน ทุกคนเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมอยากเชิญชวนให้ประชาชนมาใช้ประโยชน์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ให้เต็มที่  แล้วเราก็เปิดบ้านให้ทุกคนที่เป็นเจ้าของบ้านได้มาเห็นบ้านข้างในของเราทุกคนนะครับ ช่วยกันมาใช้ประโยชน์ และภาคภูมิใจไปกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกัน ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ช่วยกันทำงานและขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจ ปีหน้าพบกันใหม่ครับ ”

ด้าน ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2566 กล่าวว่า “ งานเกษตรแฟร์ประจำปี 2566  ภายใต้ธีมงาน ‘’80 ปี เกษตรนนทรี นำวิถีใหม่ ไทยยั่งยืน’’ จบลงแล้ว ด้วยความสำเร็จทุกประการ เป็นอีกงานหนึ่งที่แสดงว่า 80 ปีมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ได้ทำอะไร ดีดี ให้สังคม ตลอดมา อาจารย์ บุคลากร นักวิจัย จำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 คนได้นำความรู้มาเผยแพร่สู่ประชาชน เป็นการเพิ่มพูนความรู้ทักษะและประสบการณ์ตรง มีร้านค้าหน่วยงานมูลนิธิราชวงค์  U2T ของกระทรวง อว. 30 บูธ สถานทูตต่างประเทศ 12 สถานทูต กรม กอง รัฐวิสาหกิจร่วมออกร้านในงานเกษตรแฟร์  ในเวลา 9 วันนิสิตจำนวนไม่ต่ำ 10,000 คนใช้งานเกษตรแฟร์เป็นแหล่งเรียนรู้นอกชั้นเรียน ในหลายมิติ เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า ได้นำผลผลิต ออกจำหน่าย สู่ประชาชนโดยตรง จำนวนกว่า 1,500 ร้านค้า ทำให้เกิดเงินสะพัดทั้งทางตรงและทางอ้อม คาดว่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่งานสู่สังคมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งข่าวประชาสัมพันธ์  YouTube TikTok  IG ไม่ต่ำกว่า 1,000 เรื่อง ในปีนี้มีผู้เข้าชมงานที่ให้ความสนใจอย่างล้นหลาม มากกว่า ทุกๆ ปี จำนวนกว่า ล้านคนที่เข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ จับจ่ายสินค้า  และเติมเต็มความสุขที่ขาดหายไป 2 ปี ในทุกรูปแบบ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ช่วยทำให้งานนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทั้งทางตรงและทางอ้อม ครับ”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่างานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2566 จะจบลงไปแล้ว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังเปิดระบบ งานเกษตรแฟร์ออนไลน์แบบเสมือนจริง (Virtual Kaset Fair) เพื่อการจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยประชาชนสามารถเข้าชมผ่านเว็บไซต์ kasetfair.ku.ac.th  นำเสนอในรูปแบบเสมือนจริง 3 มิติ     จะมีข้อมูลร้านค้าที่มาเปิดบูธขายของในงานเกษตรแฟร์ 2566 พร้อมช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อให้ผู้ชมเว็บไซต์สามารถสั่งซื้อสินค้าจากร้านค้าได้โดยตรงทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟสบุ๊ค หรือช่องทางการขายสินค้าออนไลน์อื่นๆ ที่ร้านค้าระบุ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการหลังจบงานเกษตรแฟร์อีกด้วย

ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์