ติ่งตัวแม่ต้องแคร์บ้าง สภาวิศวกรออกเตือนชาวติ่ง กับประเด็นความเซฟตี้ ที่ต้องแคร์ปี 2023 มันส์ระเบิดแค่ไหน ความปลอดภัยต้องเป็นที่หนึ่ง

ติ่งตัวแม่ต้องแคร์บ้าง สภาวิศวกรออกเตือนชาวติ่ง กับประเด็นความเซฟตี้ ที่ต้องแคร์ปี 2023 มันส์ระเบิดแค่ไหน ความปลอดภัยต้องเป็นที่หนึ่ง

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย ประเทศไทยได้เปิดบ้านต้อนรับคนต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น และในช่วงที่ผ่านมาเราจะพบเห็นศิลปินต่างชาติโดยเฉพาะศิลปินเกาหลีที่ต่างตบเท้าเข้าประเทศไทยเพื่อจัดกิจกรรมมีทแอนด์กรี๊ดกันแบบถี่ยิบ ไม่ว่าจะเป็นงานคอนเสิร์ต งานแฟนมีตจนมีคำเรียกว่า “ไทยแลนด์ก็แค่ปากซอยของเหล่าศิลปินเกาหลี” โดยเฉพาะในปี 2023 นี้ ที่ว่ากันว่าชาวติ่งจะได้เฮกันอย่างต่อเนื่อง กับคิวศิลปินคนโปรดที่ทยอยเดินทางมาหากันอย่างคึกคักทุกเดือน เพื่อคลายความคิดถึงหลังจากงดกิจกรรมบันเทิงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่กินเวลานานกว่า 3 ปี

สภาวิศวกร ในฐานะองค์กรที่เต็มไปด้วยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อีกทั้งงานของวิศวกรยังเกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สังคม รวมถึงกิจกรรมของ “ชาวติ่ง” จึงมีข้อแนะนำให้แฟน ๆ ของศิลปินทุกวงได้รับความสนุกควบคู่ไปกับปลอดภัย โดยมีไฮไลต์ที่น่าสนใจดังนี้

สุวรรณภูมิ สถานที่เช็คเรทติ้งด่านแรกของศิลปิน

ติ่งที่ดีต้องต้อนรับศิลปินคนโปรดที่มาเยือนบ้านเราอย่างอบอุ่นตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบผืนแผ่นดินไทย และเป็นอีกหนึ่งการวัดเรทติ้งของศิลปินว่ามีฐานแฟนคลับ ความนิยมมากน้อยแค่ไหน แฟนคลับต่างจับจองพื้นที่เพื่อให้ได้ใกล้ชิด และมองเห็นศิลปินคนโปรดได้ชัดเจนที่สุด ตั้งแต่ทางเดินออกจากเกทไปจนจุดขึ้นรถออกจากสนามบิน จุดที่อันตรายและน่าเป็นห่วงที่สุด คือ ราวกันตกกระจก จากชั้น 2 ชั้น 3 ที่เหล่าแฟนคลับต่างพิง ผลัก ดัน เพื่อให้ได้มองเห็นศิลปินคนโปรดมากที่สุด

รศ. เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม สภาวิศวกร เปิดเผยว่า โดยปกติแล้วราวกันตกกระจกในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาคารบ้านเรือน ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่สนามบินสุวรรณภูมิ จะใช้กระจกนิรภัยที่มีความหนาเป็นพิเศษกว่ากระจกทั่วไป มีความยืดหยุ่นสูง เมื่อแตกหัก เศษกระจกจะแตกเป็นเม็ดข้าวโพดไม่แหลมคม และมีความสูงไม่ต่ำกว่า 1.30 เมตร หรือระดับอกเพื่อป้องกันคนพลัดร่วงหล่น ดังนั้น จึงมีความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กฏหมายกำหนด และเพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น ราวกันตกกระจก ควรออกแบบให้มีอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง เช่น โครงสร้างราวเหล็ก ตัวยึด เพื่อเพิ่มความแข็งแรงยิ่งขึ้น

“ถึงแม้โครงสร้างจะมีความปลอดภัยอย่างไร แต่หากมีการโถมน้ำหนักจำนวนมากเกินกว่าการใช้งานตามปกติ อย่างเช่นแฟนคลับที่เบียดกันเพื่อมองหาศิลปินคนโปรดอาจเสี่ยงต่อการกระจกแตก หรืออุปกรณ์ยึดเหนี่ยวหลวมหลุด จนเกิดอุบัติเหตุร่วงหล่นตกจากที่สูงได้ ดังนั้น จึงขอให้แฟนคลับมีสติระมัดระวังตัวอยู่เสมอ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ควรดูแลความเรียบร้อย ไม่ให้ยืนซ้อนแถวกันหนาแน่นจนเกินไป รวมทั้ง อาจวางแบริเขตกั้นเพื่อจำกัดจำนวนคนในบริเวณดังกล่าว”

แพลตฟอร์มยกระดับในงานคอนเสิร์ต รองรับความสนุกสุดเหวี่ยงได้แค่ไหน

ในงานคอนเสิร์ตฮอลล์ใหญ่ๆ จำเป็นต้องยกระดับพื้นแถวหลังให้สูงเพื่อให้มองเห็นเวทีได้ทั่วถึง ปกติแพลตฟอร์มยกระดับในงานคอนเสิร์ต หรือที่เรียกว่า ควิกเฟรม (Quick Frame) จะถูกออกแบบด้วยโครงสร้างที่แข็งแรง กระจายน้ำหนักได้ทั่วถึง สามารถรับน้ำหนักได้ประมาณ 1,400 กิโลกรัม/ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าการรองรับน้ำหนักจริงถึง 3 เท่า จึงหายห่วงแม้ในกรณีที่ความสนุกเกินขีดจำกัด เมื่อทุกคนลุกขึ้นเต้น กระโดด หรือกระทืบเท้าพร้อมกันพื้นจะไม่ทรุด ถล่มแต่อย่างใด

“ในกรณีการจัดตั้งป้าย Backdrop บนเวที หรือป้ายขนาดใหญ่ในที่สาธารณะต่างๆ ผู้จัดงานควรปรึกษาวิศวกรเพื่อคำนวณปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน อาทิ น้ำหนักและขนาดความสูงของป้าย รูปแบบการถ่วงน้ำหนัก และแรงลม เพื่อออกแบบการติดตั้งป้ายให้ปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติเหตุถล่ม ล้มทับประชาชนจนได้รับการบาดเจ็บ นอกจากนี้ สำหรับประชาชนไปในที่แออัด อย่างเช่น คอนเสิร์ต หรือผับ ควรศึกษาเส้นทางหนีไฟ และพึงมีสติ พิจารณาสถานการณ์รอบตัวอยู่ตลอด หากไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวได้ใน 1 เมตร/วินาที หมายความว่าสถานที่นั้นเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ ไม่สามารถเดินทางไปต่อได้ ให้รีบหาทางออกจากพื้นที่แออัดนั้นทันที” รศ. เอนก กล่าวเพิ่มเติม

ทางด้าน รศ. ดร. ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร สมัยที่ 7 ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาวิศวกร มีคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม วิศวกรอาสา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพ โดยเฉพาะในด้านภัยพิบัติ ทำหน้าที่เสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ ให้กับคณะกรรมการต่างๆ ของรัฐบาล โดยมีตัวแทนของสภาวิศวกรอยู่ในคณะกรรมการชุดนั้นๆ อาทิ คณะกรรมการควบคุมอาคาร คณะกรรมการผังเมือง และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ โดยคำนึงถึงความโปร่งใสในการทำงานและประโยชน์ของประชาชน สังคม รวมถึงความสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งที่สภาวิศวกร มุ่งมั่นดำเนินงานตามจรรยาบรรณวิชาชีพวิศวกรไปพร้อมเคียงข้างประชาชน

จะติ่งวงไหนก็ต้องแคร์ความปลอดภัย กับพฤติกรรมพึงระวังทั้งใน – นอกอาคาร

ไม่ว่าจะติ่งศิลปินคนใดก็ตาม แฟนคลับทั้งหลายอย่างลืมคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยทั้งของตนเองและศิลปิน รวมถึงมีสติระมัดระวังตนเองอยู่เสมอ ปฏิบัติตามกฎระเบียบของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อความเป็นระเบียบและเรียบร้อย ไม่ควรโถมน้ำหนักตัวและเบียดเสียดกันบริเวณกระจกกั้น เพราะ อาจะเสี่ยงต่อกระจกแตก ไม่ควรอยู่ในพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก เบียดเสียดกันเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด นอกจากนี้เมื่อไปคอนเสิร์ต ควรศึกษาเส้นทางหนีไฟ และสังเกตสถานการณ์รอบตัวอยู่ตลอดเวลา

ติดตามข่าวสารและความรู้ใกล้ตัวเกี่ยวกับงานวิศวกรรมตลอดจนความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกร ได้ที่สายด่วน 1303 ไลน์ไอดี @coethai เพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/coethailand ช่องทางยูทูบ (YouTube Channel) สภาวิศวกร Council of Engineers Thailand และเว็บไซต์ https://coe.or.th