มรภ.สวนสุนันทา ผลักดันร้านอาหารริมบาทวิถี ยกระดับสู่เส้นทางอาหารเมืองกรุง ส่งเสริมการท่องเที่ยวอินเตอร์
นางสาวอทิตยา บัวศรี ผู้จัดการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นักวิจัยโครงการย่อย ภายใต้ทุนสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐาน (Fundamental Fund) ประเภท Basic Research Fund ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ได้กล่าวถึงชุดโครงการวิจัยในชื่อ เรื่อง นวัตวิถีอาหารสตรีทฟู๊ดสู่การส่งเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากชุมชนเมืองกรุงเทพมหานครเพื่อการท่องเที่ยวระดับโลก ว่า
“กรุงเทพมหานคร เป็นสวรรค์แห่งอาหารริมทาง หรือเมืองที่มีอาหารริมทาง (Street Food) ดีที่สุดในโลกต่อเนื่องจากปี 2561 (ที่มาสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ด้วยประเภทอาหารที่หลากหลาย กรุงเทพมหานครจึงเป็นเมืองจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ที่หลงไหลในอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจร้านสตรีทฟู๊ดจึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมการพัฒนามูลค่าเพิ่มให้กับอาหาร พัฒนาสมรรถนะด้านการขาย การบริการ ภาษาเพื่องานขาย ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานอาหาร ความสะอาดและความปลอดภัย การออกแบบ การจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ด้วยการรักษาอัตลักษณ์ และมีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนการใช้นวัตกรรมการจัดการตลาดดิจิทัลด้วยระบบการตลาดอัจฉริยะ เพื่อสร้างรายได้รองรับการเกิดวิกฤตในอนาคตดั่งเช่น ภาวะวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 แล้วภาครัฐมีประกาศ Lockdown เพื่อให้ประชาชนกักตัวเองอยู่ภายในบ้าน ความต้องการสั่งซื้ออาหารเพื่อการบริโภคจึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ผู้ประกอบการเองก็ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถขายสินค้าได้เช่นกัน เนื่องจากเข้าไม่ถึงระบบการตลาด การกระตุ้นให้เกิดการรับรู้รวมทั้งพฤติกรรมการซื้อ รวบรวมพฤติกรรมการซื้อ รวมทั้งข้อมูลร้านอาหารสตรีทฟู๊ดที่มีอยู่ในกรุงเทพมหานครไว้ในฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) คู่ขนานกับการบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมและการสร้างเครือข่ายชุมชน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ การจัดระเบียบร้านอาหารสตรีทฟู๊ดของกรุงเทพมหานคร จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารสตรีทฟู๊ดสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยและกรุงเทพมหานครรวมทั้งสร้างรายได้จากการลงทุนที่ไม่สูงสู่สวรรค์แห่งอาหารริมทางอย่างยั่งยืนแม้ในยามที่เกิดวิกฤต”
อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยดังกล่าว ได้ดำเนินการสำรวจสร้างเส้นทางแนะนำร้านอาหารริมบาทวิถีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเขตพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และฝั่งธนบุรี โดยมีเส้นทางแนะนำ 3 เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารสตรีทฟู้ด เส้นทางละ 10 ร้านค้า อาทิ ร้านผัดไทย, ข้าวมันไก่, ส้มตำ-ไก่ย่าง, ก๋วยเตี๋ยว, หอยทอด ,คั่วไก่ เป็นต้น เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารสตรีทฟู้ด ขนมหวาน 2 เส้นทาง และ Application ที่ใช้ประกอบกับธุรกิจอาหารสำหรับร้านอาหารริมบาทวิถี
จากงานวิจัยดังกล่าวทำให้เกิดผลสะท้อนที่ผู้ประกอบการ ตัวแทนชุมชน และเยาวชน ให้สามารถนำความรู้ภูมิปัญญาด้านอาหารนำสู่การตลาดในรูปแบบสตรีทฟู้ดเพื่อเป็นช่องทางการพัฒนาเป็นอาชีพได้ โดยสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ปลอดภัยและสังคมอยู่ดีมีสุข เกิดความยั่งยืน ผู้ผลิต/ชุมชน/ผู้สนใจประกอบอาชีพอิสระได้ความรู้และเกิดประสบการณ์ในการเริ่มต้นการประกอบธุรกิจโดยสามารถศึกษาความเป็นไปได้ด้านการผลิต การตลาด และด้านอื่นๆ เพื่อเริ่มต้นการประกอบธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ