บทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัยไทย
ผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างมนุษย์ดิจิทัล
“การพัฒนาของโลกทั้งปัจจุบันและอนาคตในยุคดิจิทัล พบว่ามูลค่าของเศรษฐกิจและบริษัทชั้นนำของโลก ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับดิจิทัล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างก้าวกระโดด ประเทศไทยเป็นกลไกหนึ่งของโลกที่จะต้องให้ความสำคัญกับการก้าวสู่ประเทศดิจิทัล ในฐานะที่มหาวิทยาลัยเป็นคลังความรู้และคลังสมองของประเทศ จึงต้องเตรียมความพร้อมสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลเพื่อเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580”
ศ. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวตอนหนึ่งถึงความพร้อมในการพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัลในงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “การสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล” และย้ำว่ามหาวิทยาลัยจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะหน้าที่สำคัญในการสร้างคนไทยให้เป็น “มนุษย์ดิจิทัล” เพื่อเป็นอนาคตของประเทศที่สามารถใช้และพัฒนาดิจิทัลในอนาคต อีกทั้งเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความพร้อมล่วงหน้า 10 ปี เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการพัฒนา
ขณะที่วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยชั้นนำได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเครื่องมือ DMM รวมถึงประสบการณ์การสำรวจความพร้อมสู่ความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยดิจิทัล โดย รศ. ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการเป็นมหาวิทยาลัยตัวอย่างเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งจะต้องพัฒนาก้าวกระโดด มีธงปักทิศทางที่ชัดเจน มีจุดคานงัดด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงมองถึงการใช้อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาเพิ่มศักยภาพของมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในพื้นที่อีอีซีที่เติบโตเร็ว
ในฐานะมหาวิทยาลัยรับใช้สังคมจึงเป็นความท้าทายของผู้บริหารและของทั้งองคาพยพ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวบูรณาการ มีองค์ความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย และมีกลยุทธ์ในการประเมินทั้งการเรียนการสอนและการบริการสังคม รวมถึงแพลตฟอร์มกลางที่นำไปสู่การทดลองใช้เพื่อทำมาตรฐาน ตลอดจนการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เพื่อพัฒนาท้องถิ่น และพัฒนาระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) เพื่อสร้างข้อมูลดิจิทัล โดยใช้ “ฉะเชิงเทราโมเดล” นำศักยภาพของมหาวิทยาลัยมาเติมเต็มและส่งผ่านให้จังหวัดก้าวสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้
ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ดำเนินการเรื่องสมาร์ทดิจิทัล และร่วมผนึกกำลังกับสถานประกอบการ ทั้งพัฒนาหลักสูตร ทำแอปพลิเคชั่นร่วมกับธนาคารกรุงไทย ทำแพลตฟอร์ม “ดิจิทัลฉะเชิงเทรา” เพื่อขับเคลื่อนการสร้างระบบนิเวศท้องถิ่นที่เข้มแข็งสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยผนวกข้อมูลของมหาวิทยาลัยกับจังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสู่การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่ากระแสของสังคมโลกและสังคมไทยที่มีจำนวนนักศึกษาลดลง จึงเสริมทัพด้วยการโปรโมทกิจกรรมเพื่อสร้างแบรนด์ให้กับมหาวิทยาลัย และการสร้างกระบอกเสียงให้กับคนฉะเชิงเทราโดยสร้างอินฟลูเอนเซอร์
“งานวิจัยต้องไม่ขึ้นหิ้ง แต่มีผู้ใช้ประโยชน์ และนำไปสู่โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย โดยผนึกกำลังกับภาคีต่าง ๆ เพื่อฉายภาพและเพิ่มศักยภาพให้กับกำลังคนในอีอีซี เราต้องไม่เดินคนเดียวแต่ต้องจับมือกับหลายภาคส่วน เพื่อสร้างภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต พัฒนาทั้งองคาพยพ และสร้างผลงานของนักศึกษาให้เห็นการเติบโตของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ดูเม็ดเงินหลังบ้าน พร้อมกับพัฒนาบุคลากร โดยกำหนดเป้าหมายเชิงรุกที่จะเร่งหารายได้จากเงินนอกงบประมาณและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น”
ขณะที่ รศ. ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า DMM เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจและนำมาใช้ประเมินสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล รวมทั้งการมีส่วนร่วมจากบุคลากรหลายภาคส่วน ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแผนพัฒนามุ่งสู่การเป็นมหาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและสร้างการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศที่ยั่งยืน โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นกลไกขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงเจ้าหน้าที่ส่วนงาน และมีดิจิทัลเข้าไปแทรกในยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน แต่อาจไม่ได้มองธุรกิจและการขับเคลื่อนในเชิงธุรกิจมากนัก จึงสะท้อนกลับมามองตนเองเรื่องยุทธศาสตร์ของการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลให้เข้มแข็ง
ปัจจุบันแผนพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 (2566-2570) มุ่งสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ นวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ นวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ ล้านนาสร้างสรรค์ การจัดการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม โดยนำดิจิทัลมาบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ 3 ด้าน คือ 1. ความคล่องตัวและความยืดหยุ่นเพื่อปรับสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล 2. การปรับวัฒนธรรมองค์กรและพัฒนาคนให้มีทักษะด้านดิจิทัลเพื่อปรับปรุงองค์กร 3. การบริหารจัดการด้วยข้อมูล จึงต้องใช้ดิจิทัลในการสื่อสารที่รวดเร็ว ลดขั้นตอนและปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ มองลูกค้าและสินค้ามากขึ้น เพื่อนำไปสู่การบริการโดยใช้นวัตกรรมบริการ รวมทั้งการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ ทำให้เห็นโมเดลสถาปัตยกรรมองค์กรที่จะทำให้เห็นภาพกว้างขึ้นทั้งเชิงธุรกิจและยุทธศาสตร์องค์กร การใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนองค์กร และด้านดิจิทัล สู่การเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ
ส่วนบทเรียนในการใช้ DMM เพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รศ. ดร.สินชัย กมลภิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าถึงประสบการณ์จากการประชุมเชิงปฏิบัติการว่ากลุ่มงานต่าง ๆ เริ่มคิดนอกกรอบถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ไม่ทำงานคนเดียว ซึ่งช่วยยกระดับทัศนคติและความเข้าใจที่ตอบโจทย์ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย และขยายผลสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ก้าวข้ามไปมองระบบนิเวศมากกว่าการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น มีการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมในทุกมิติ และยกระดับนักเรียนนักศึกษาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลให้ใช้งานอย่างแพร่หลาย ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลจะต้องยกระดับและสนับสนุนมิติต่าง ๆ โดยมีดิจิทัลเป็นฐาน และทำงานเชิงรุก
“DMM จึงนับเป็นเครื่องมือที่สอดคล้องและตอบโจทย์นโยบายของมหาวิทยาลัย เป็นพลังในการขับเคลื่อน และมีความพร้อมเสมอที่จะปรับเปลี่ยนตัวให้อยู่ในโลกอนาคต มิฉะนั้นการศึกษาจะบิดเบี้ยวหรือผิดเพี้ยน ดังนั้นการเป็นมหาวิทยาลัยจะต้องพัฒนากำลังคนที่เป็นหลักสำคัญและช่วยกันพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน”